วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 2

30 ส.ค. 2567 | 23:30 น.

วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 2 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4023

ผมไม่ได้คิดจะ “หาเรื่อง” พระ เพียงแค่ หา “เรื่อง…” เกี่ยวกับ “การแห่นางแมว” เพื่อเอาไปถามพระในห้องบรรยายว่า “พระคุณเจ้าเห็นควรกับการแห่นางแมวขอฝนหรือเปล่าขอรับ?” ท่านพยักหน้าเห็นด้วย 

ผมก้มลงกราบทั้งห้องสามครั้งเปิดทาง เพื่อที่จะให้ความเห็นว่า “หลายคนเขาเชื่อกันด้วยความสุจริตใจว่า การแห่นางแมวขอฝน เป็น วัฒนธรรมอันประเสริฐ ว่าแล้วก็ไปช่วยกันสรรหา แมวพรหมจรรย์ คือ แมวที่ยังไม่เคยเมคเลิฟกับใคร มาขังไว้ในกรง ร่วมมือแห่กันไปสาดน้ำกันมา 

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า บาป เนื่องจากมีพฤติกรรม รบกวนสัตว์แหงๆ รังแกสัตว์เห็นๆ เพื่อนร่วมงานผมชะโงกมากระซิบ ซักแถม ผสมโรง อ้างปมที่เขาสนใจว่า ใครกันที่ขยันเป็นคนเฝ้า ท่านแมว และ พิสูจน์ยังไวว่า ท่านแมว เธอยังไม่โดน” (ฮา)

ผมนมัสการแล้วเล่าแง่มุมกับพระคุณเจ้าว่า “ถ้าท่านเห็นว่า ท่านแมว ศักดิ์สิทธิ์ มี บุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ติดตามมาจากชาติก่อน อันที่จริงมีบุคคลอันประเสริฐที่น่าจะศักดิ์สิทธิ์กว่า ท่านแมว ซึ่งก็มิใช่ใครอื่นใด ท่านนั้นก็คือ ท่านนั้นแหละ ระดับท่านเจ้าอาวาสถ้าไม่ขลังก็แปลกแหละ

 

                                   วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 2

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า หากนักแห่เขาเชื่อตามผมจึงมากราบเท้าพระเดชพระคุณท่าน ขึ้นไปนั่งบนแคร่ให้ชาวบ้านเขาแห่ให้คนสาดน้ำขอฝน พระเดชพระคุณท่านจะยินยอมหรือเปล่า ขอรับ” (ฮา)

วาทกรรมตามปากที่เอ่ยอ้างกันเป็นนิจในแทบทุกกรณี คือ “ก็เขาทำแบบนี้กันทั้งนั้น!” สำนวนดั่งว่า มีความหมายตรงปกกับคำว่า Folk Way นักวิชาการ แปลว่า “วิถีประชา” การทำตามใจกระแสเช่นนี้ มีทั้ง เหมาะสม และ คลาดเคลื่อน ปะปนกันไป ยังไม่ใช่เนื้อหาของวัฒนรรมอันพึง

ลำดับถัดไป Custom นักวิชาการ แปลว่า “ธรรมเนียม”  คือ สิ่งที่ยึดถือปฎิบัติเฉพาะกลุ่ม

ลำดับถัดมา Tradition นักวิชาการ แปลว่า “ประเพณี” หมายถึง สิ่งดีงาม ความถูกต้อง

จากนี้เริ่มมีหลักมีเกณฑ์เพิ่มขึ้นอีกนิดนึง Norm นักวิชาการ แปลว่า “บรรทัดฐาน ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน” คือ พฤติกรรม และ บทบาทภายในสังคมนั้นๆ อาจจะถือได้ว่าเป็น "กฎซึ่งกลุ่มใช้สำหรับแยกแยะค่านิยม"

คำว่า “โหล ” แปลว่า “สิ่งที่ถือกันว่ามีคุณภาพงั้นๆ” สังคมมักเอาคำนี้มาใช้ผสมผสานกับถ้อยคำ ซึ่งบอกรวมถึงสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ยกเว้น ถ้ากิจกรรมใดข้ามเขตสู่แดนดินถิ่น

“วัฒนธรรม” จะเมนท์อะไรคงต้องระมัดระวัง อย่างเก่งก็แค่ผลัดกันโชว์กึ๋นด้วยการแปลให้มันแตกต่าง... 

มือฉมัง บอกว่า “วัฒนธรรม” มาจากรากศัพท์ในภาษาละตินว่า “Colere” หมายถึง “การดูแลดิน การเจริญเติบโต การเพาะปลูก หรือ การเลี้ยงดู”

มือคาดเชือก ย้ำว่า “วัฒนธรรม มีความหมายเกี่ยวข้องกับ การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างแข็งขัน มีไว้อาศัย เพาะปลูก หรือ ให้เกียรติ" 

มือฉมวก บ่งว่า "วัฒนธรรม ขยายแขนง แปลงนัยไปถึง การฝึกฝน การพัฒนา และ การขัดเกลาจิตใจ รสนิยม และ มารยาท" 

มือเปิบ หวดส่งท้ายว่า "วัฒนธรรม คือ สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ นัยรากศัพท์ภาษาละติน คือ Cult แปลว่า "เติบโต" จะต้อง  "พัฒนา" คำเติมแต่ก่อนจึงเลือกคำว่า Cultura มาใช้

วัฒนธรรมของสามเณรในอดีตจะมีวันสามเณร เป็นวันที่สามเณรจะได้มาพบปะทำกิจกรรมนำร่องสานไมตรีทวีเครือข่าย สอดคล้องกับพุทธดำรัสที่บอกพระอานนท์ว่า “เพื่อนคือทั้งหมดของชีวิต!”

จะด้วย มูลเหตุ หรือ มูลที่มีแต่มูล ก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าปัจจุบันนี้สิทธิเหล่านั้นเป็นหมันไปนานแล้ว วันสามเณร เป็นวาระวาทะโชว์ โต้วาที ที่สามเณรจะได้มีโอกาส ซ้อมเล็ก เผื่อไว้ เทศน์ใหญ่ ในภายหน้า

บัดนี้ “วัฒนธรรมวันสามเณรหมดโอกาสจะอุแว้” เมื่อไม่มีใครเทคแคร์ก็คงจะต้องหันไปหา “วัฒนธรรมวันสามเณรในหลอดแก้วเพราะเวลาไม่พอที่จะมาเฝ้ารอช่องคลอด!” ผมรอดูอยู่ว่า วัฒนธรรมอุแว้ กับ วัฒนธรรมอุวะ ใครจะอยู่ใครจะไป (ฮา) 

สำหรับท่านสามเณรน้อยก็อย่ามัวแต่รอ วันสามเณร ฝึกคิดฝึกคุยไปก่อน อย่าเผลอแบบท่านสามเณรน้อยท่านหนึ่งที่ไม่ท่องมนต์ ไปบิณฑ์ตอนเช้าก็ให้พรโยมสั้นๆว่า "...พลัง!" โยมก็แซวว่า "อายุ วรรโณ สุขัง หายไปไหนล่ะคะ" สามเณรท่านก็หัวเราะแล้วบอกว่า "ลืมไว้ที่กุฏิ พรุ่งนี้จะเอามาเพิ่มให้นะคุณโยม" (ฮา)