KEY
POINTS
พักนี้ท่านผู้อ่านกรุณาทักถามชวนคุย ว่านอกจากกระบวนเรือพยุหยาตราแล้ว มีกระบวนเสด็จตามอย่างโบราณราชประเพณีอย่างอื่นอีกบ้างไหมที่ให้ความรู้สึกเต็มตื้นอลังการอย่างว่าเห็นแล้วต้องตะลึงพึงเพลิด บังเกิดความประทับใจ อีทีนี้ด้วยเหตุที่ว่าขณะนี้ขึ้นมาทำฟัน_ทำทันตกรรมบูรณะฟันอยู่ที่ในเวียงเชียงใหม่ (หมอฟันเมืองนี้ท่านจริยาทำฟันเนิบช้าเเช่มช้อย_ช่วยให้คลายเจ็บได้มาก จำจะต้องเดินทางไกลมารักษาให้ถึงมือท่าน) ก็ให้นึกถึงว่า กระบวนอย่างพยุหยาตราเสด็จเลียบเมืองเชียงใหม่สมัยรัชกาลที่ ๗ นั้นน่ะซี จึงจะมีความอลังการงามงดโดนใจท่านผู้ถาม
ความอลังการงามงดนี้มาแต่ใด?
ก็ต้องขออนุญาตเรียนไปด้วยใจมิตรว่า ครั้งที่กรุงเทพพระมหานครมีขบวนเรือพยุหะยาตรา แต่ที่เชียงใหม่นี้นั้นกลับงามตาด้วยเปนขบวนเสด็จบนหลังช้าง!
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลนั้นท่านมิได้ทรงช้างเข้าเวียงเชียงใหม่อยู่แต่ลำพังพระองค์เดียว ขบวนช้างที่เจ้านายฝ่ายเหนือทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จัดมาถวายเข้ากระบวนพยุหยาตรามีมากถึง ๘๔ เชือก ถ้าเปรียบช้างเป็นเรือก็ต้องพูดว่ามีเรือมากถึง ๘๔ ลำ!
จดหมายเหตุระบุว่า จำนวนช้างเข้ากระบวนนี้ ช้างเจ้าผู้ครองเชียงใหม่ ๑๔/ ช้างพระราชชายา(เจ้าดารารัศมี) ๔/ ช้างบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ๒๙/ ช้างบริษัทบอเนียว ๑๑/ ช้างบริษัทอิสท์เอเชียติ๊ก ฝรั่งเศส ๔/ ช้างของหลวง ๔/ ช้างพญาเด็กชาย ๒/ ช้างกงสุลอังกฤษ ๒/ ช้างเจ้าผู้ครองลำพูน ๑๒
รวมทั้งสิ้น ๘๔ ช้าง มีทั้งช้างพลาย ช้างพัง และช้างสีดอ (เครื่องเพศเปนพลายแต่งาออกแค่ขนายนิดหนึ่งเหมือนช้างพัง)และหากว่ากระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคต้องอาศัยฝีมือของเหล่าทหารเรือฝีพาย นายท้ายกัปตันในการบังคับทิศทางเรือสู้กับกระแสน้ำเชี่ยวและเหตุไม่คาดฝันอย่างฝนฟ้าตกต้องนอกฤดูกาล พายุลมแรงพัดกระโชกผ่านแล้วไซร้ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค อย่างขบวนช้างเสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่นี้ประดาคชสารตัวพลายตัวพัง ซึ่งนำมาเข้ากระบวนถวายงานตามหน้าที่ ก็มีเรื่องให้ต้องลุ้นกับการบังคับทิศทางของสัตว์ใหญ่ไม่ให้ตื่นคนตื่นเสียงเดินแถวเข้ากระบวนกับเขา ให้ได้จังหวะเยื้องย่างเรียงกันบนความสวยงามตามแบบแผนกำหนด โดยต้องแฝงความปลอดภัยถึง ๑๐๐% ในทุกขั้นตอน เป็นอันว่าผู้ควบคุมช้างและผู้อำนวยการเดินทางจำจะต้องได้แสดงฝีมือสำคัญในวิชาช้าง (คชกรรม) ซึ่งสูญไปมากแล้วเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้ ให้ปรากฏลือนาม
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดเสด็จพระราชดำเนินมาโดยทางรถไฟจากสถานีจิตรลดา ส่วนทางนครเชียงใหม่ตกแต่งถนนหนทางจากสถานีถึงที่ประทับ ทำซุ้มประตูขนาดใหญ่ด้วยศิลปะต่างๆรับเสด็จถึง ๑๐ ซุ้ม อาณาประชาราษฎรก็ประดับประดาบ้านเรือนโรงร้านสองข้างทางเสด็จด้วยธงชาติและผ้าขาวผ้าแดง มีแท่นเครื่องบูชามีพระสงฆ์สวดข้อมงคลคาถา ตามปะรำต่างๆหน้าวัด และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เวลาเสด็จผ่านที่สถานีรถไฟ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ รอสวดถวายชัยมงคล ๒๐ รูป ต่อจากพระสงฆ์มีแถวทหารราบที่ ๘ เป็นกองเกียรติยศ และกองเสือป่ารักษาดินแดนพายัพ พร้อมด้วยศารทูลธวัชประจำกองเกียรติยศของทหาร เจ้านายข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน กงสุลชาวต่างประเทศเฉพาะที่เป็นหัวหน้าคณะและบริษัทพร้อมด้วยภรรยายืนเฝ้าตามลำดับเจ้านายผู้หญิงพื้นเมืองกับสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เป็นหัวหน้าคอยเฝ้าที่ปะรำหน้าบ้านอธิบดีผู้พิพากษา พ่อค้าคฤหบดีที่เปนชาวสยามเฝ้าที่ปะรำข้างวัดต้นขวางและปะรำข้างศาลารัฐบาล คนในบังคับอังกฤษเฝ้าที่ปะรำประตูท่าแพ คนจีนเฝ้าที่ปะรำเจดีย์ควัน
ครั้นเมื่อจะเข้ากระบวนช้าง ก็พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระราชบิดา เสื้อสักหลาดแดง คอแขนดำปักดิ้นทองคำ พระมาลาสูงประดับขนจามรีสีดำทรงสะพายอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงพระคฑาจอมทัพทองคำเสด็จขึ้นประทับช้างพลายสำคัญของเจ้านครเชียงใหม่ ซึ่งผูกกูบทองสายรัดประคน (สายเชือกแดงรัดกูบที่ประทับติดกับหางช้าง) ติดพระแสงของ้าว หอก ดาบ ที่กูบสำแดงพระบรมเดชานุภาพอย่างบูรพมหากษัตริย์แต่สมัยโบราณ
ที่นี้ว่าก่อนจะถึงช้างทรงนั้น มีริ้วกระบวนทหารเดินเท้าก่อน โดย พลโท หม่อมเจ้าอลงกฎ (ต่อมาคือกรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์) แม่ทัพน้อยที่ ๒ จัดกระบวน เบิกหน้าด้วยกำลังพล กรมบัญชาการกองพล กองบังคับการกรมทหารบกม้าพิษณุโลก เดินตอนเรียงพวก กองบังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๘พร้อมด้วยพาหนะเดินตาม ต่อด้วยแตรวงกรมทหารมหาดเล็ก กองบังคับการกรมทหารบกราบที่ ๘ แล้วกองทหารสัมภาระเดินเป็นตอนเรียงหมู่ ต่อด้วยกองเสนารักษ์
กองเสือป่ารักษาดินแดนพายัพ จึงจะต่อด้วย ช้างกลองนำ ผูกเครื่องเงินของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีปกตะพองหน้าและห้อยข้าง ผ้าปูหลังลายทองห้อยพู่หูจามรี คนขี่คอเป่าเขาควาย คนกลางตีกลอง คนท้ายช้างตีฆ้อง แต่งเสื้อกางเกงหมวกแดงขลิบเหลือง
ตามด้วย ช้างเชิญพระชัย(พระปฏิมาชัยวัฒน์/พระชัยหลังช้าง) ผูกเครื่องเงินมีปกตะพองห้อยข้างซองหางห้อยพู่จามรี ใช้กูบทองของเจ้าผู้ครองนครลำพูน ควาญช้าง คือ เจ้าน้อยสาย ณ ลำพูน นุ่งเกี้ยวสวมเสื้อเสื้อเยียระบับคาดสำรด (ผ้าคาดเอวแสดงบรรดาศักดิ์ของฝ่ายเหนือ) ใส่หมวกยอด ในกูบที่ประดิษฐานพระชัยเงินหลังช้าง มีเจ้าพนักงานภูษามาลานั่งประคองไป ควาญท้ายแต่งเสื้อกางเกงหมวกแดงขลิบเหลือง
ตามมาด้วย ช้างดั้ง ซึ่งก็เหมือนกับกรณีเรือดั้ง คือลักษณะเป็นพาหนะที่เพรียวและเคลื่อนที่เร็วอยู่บริเวณส่วนหน้าทำหน้าที่ป้องกันลาดตระเวน
ช้างดั้ง ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดง มีสายพานหน้าซองหางและรัดประคน ( เชือกนุ่มสำหรับโคนหาง) ผ้าปูหลังสีน้ำเงินขลิบแดง ควาญหัว/ท้ายใส่เสื้อกางเกงหมวกแดงขลิบเหลือง คนกลางช้างสวมเสื้อกางเกงเขียวหมวกแดง เขียนยันต์สะพายกระบี่ถือหอก
ต่อจากช้างดั้งก็คือช้างเขน ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงมีสายพานหน้าซองหางและรัดประคน ผูกกูบหวายเบาลงรักแต่งเครื่องอาวุธหอก ดาบ ทวนยาว โล่ปักธงรูปสัตว์ กลางช้างแต่งเครื่องอย่างเดียวกับช้างดั้ง แต่ถือแพนหางนกยูง ๒ มือ ส่งสัญญาณในการบัญชาการโจมตีหรือระวังป้องกันต่างๆของช้างขบวน ตามด้วย ช้างเจ้านายฝ่ายเหนือนำเสด็จ ช้างชุดนี้แต่งเครื่องห่มผ้าแดงมีสายพานหน้าซองหางและรัดประคน ปกตะพองหน้าผ้าแดงลายทอง
ผู้ทรงช้างเรียงจากท่านอาวุโสน้อยไปอาวุโสมาก ได้แก่ (๑) เจ้าวงศ์เกษม ณ ลำปาง บุตรเจ้าราชบุตร ผู้รั้งเจ้าผู้ครองนครลำปาง (๒) เจ้าอุตรการโกศล นครลำปาง (๓) เจ้าชัยสงคราม นครลำปาง (๔) เจ้าราชสัมพันธวงศ์ นครลำปาง (๕) เจ้าราชสัมพันธวงศ์ นครลำพูน (๖) เจ้าสุริยวงศ์ นครลำพูน (๗) เจ้าราชบุตร์ (วงษตวัน) นครเชียงใหม่ (๘) เจ้าชัยวรเชฐ นครเชียงใหม่ (๙) เจ้าราชภาคินัย (น้อยเมืองชื่น) นครเชียงใหม่ (๑๐) เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าแก้วมุงเมือง) นครเชียงใหม่ (๑๑) พล.ต.ต. เจ้าราชวงศ์ (เจ้าแก้วปราบเมรุ ) นครลำปาง (๑๒) พลตรี เจ้าจักร์คำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน (๑๓) พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ตั้งแต่ช้างตัวต้นถึงช้างเจ้านายนำเสด็จตัวท้าย มีกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงใหม่ แต่งตัวนุ่งผ้าสีน้ำเงิน เดินเรียงคู่แซงทั้งสองข้างทาง มีพลเดินเท้าแต่งตัวสวมเสื้อขาวนุ่งผ้าสีน้ำเงิน ถืออาวุธหอกดาบง้าวทวน เดินแซงสองข้างทางในแถวกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็น ๔ สาย
ครั้นก่อนจะถึงช้างทรง มีช้างพังนำซึ่งเป็นช้างนำช้างพระที่นั่งผูกเครื่องหุ้มผ้าแดง มีสายพานหน้ารัดประคนซองหางมีตะกรุด ห้ออยพู่หูจามรี ผ้าปูหลังผ้าตาดปกตะพองผ้าแดงลายทอง ควาญช้าง คือ เจ้าน้อยปัญญาวงศ์ ณ เชียงใหม่ ควาญท้าย คือเจ้าน้อยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่ แต่งตัวนุ่งผ้าเกี้ยวสวมเสื้อเยียระบับ คาดสำรดบรรดาศักดิ์หมวกทรงประพาสกำมะหยี่ดำขลิบทอง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลุกจากเกย พันตำรวจเอกเจ้าไชยสงคราม (เจ้าน้อยสมพมิตร ณ เชียงใหม่) หมอช้างพระที่นั่งถวายบังคม ๓ ครั้ง พอประทับเรียบร้อยถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง กราบบังคมทูลพระกรุณา ในการที่เจ้าพนักงานทอดพระแสงปืนสั้นไว้ข้างขวาที่ประทับพร้อมแล้ว
เมื่อช้างพระที่นั่งจะเริ่มเดินจากเกย หมอช้างกราบบังคมทูล ขอรับพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวน หมอช้างพนมขอตลอดเวลาเดินทาง(พนมมือมีขอพาดกลางอยู่หว่างนิ้วโป้ง) ท้ายช้างถวายเครื่องสูง บังกั้นแดดลม
ตามด้วย ช้างสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ผูกเครื่องทองของเจ้าผู้ครองนครลำพูน มีปกตะพองห้อยพู่จามรีผูกกูบจำลองทอง ควาญช้าง คือ เจ้าน้อยพรหม ณ เชียงใหม่ ท้ายช้าง เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ แต่งตัวอย่างเดียวกับช้างพระที่นั่งทรง
ตั้งแต่ช้างพังนำถึงช้างพระที่นั่งสมเด็จพระบรมราชินี ข้าราชการ ทหารพลเรือนแต่งตัวเต็มยศเดินเรียง ๒ แซงสองข้างทางแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ช้างพระที่นั่งทรงถึงช้างสมเด็จพระบรมราชินี มีทหารมหาดเล็กเดินแซงสายในทั้งสองข้างทางเป็น ๔ สาย จตุรงคบาท คือ ผู้อารักขาเท้าช้าง มีสมุหราชองครักษ์ แม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๒ ราชองครักษ์ พระตํารวจหลวง มหาอำมาตย์ตรี พระยาวรวิไชยวณิกร เดินนำหน้าช้างพระที่นั่งทรงมหาอำมาตย์ตรี พระยาเพ็ชร์พิไสยศรีสวัสดิ์ ปลัดมณฑล เดินนำหน้าช้างพระที่นั่งสมเด็จพระบรมราชินีจึงตามด้วย ช้างเครื่อง ของมหาดเล็กเชิญเครื่อง ๒ นาย ผูกเครื่องห่มผ้าแดงกูบโถง
ฝ่ายในตามสมเด็จพระราชินีมี ช้างคุณท้าวสมศักดิ์ ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงใส่กูบประทุน,ช้างหม่อมหลวงคลอง ชัยยันต์ นางสนองพระโอษฐ์ ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงใส่กูบประทุน, ช้างหม่อมราชวงศ์ พันธุ์ทิพย์ เทวกุล ณ อยุธยา นางพระกำนัล ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงใส่กูบประทุน ปิดด้วย ช้างดั้งหลัง ๒ เชือก ผูกเครื่องและคนควาญ อย่างเดียวกับช้างดั้งหน้า
จึงตามด้วย ช้างทรงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ (Lord High Programme) ผูกเครื่องพานหน้าซองหางเงิน มีปกตะพองห้อยพู่จามรี ใส่กูบทองโถง, ช้างพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธินผูกเครื่องพานหน้าซองหางเงิน มีปกตะพองห้อยพู่จามรี ใส่กูบทองโถง เช่นกัน ต่อด้วย ช้างหม่อมเจ้าพีระพงศ์ (พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช) ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงกูบโถงทาแดง ตามด้วยช้างหม่อมเจ้าฉัตรมงคล ผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงกุบโถงไม้ลาย, ช้างหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ผูกเครื่องห่มผ้าแดงกูบโถงไม้ลาย
จากนั้นจึงเปนช้างฝ่ายในของฝ่ายเหนือ เริ่มจาก ช้างเจ้าส่วนบุญ ชายาเจ้าจักร์คำขจรศักดิ์ ผูกเครื่องพานหน้าซองหางทองเหลืองกูบประทุน, ข้างเจ้าเรณุวรรณา ชายาเจ้าบุรีรัตน์ เชียงใหม่ ผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน, ช้างเจ้าหล้า ชายาเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ลำพูนผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน, ช้างเจ้าบัวทิพย์ ชายาเจ้าราชภาคินัย เชียงใหม่ ผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน, ช้างเจ้าเรือนแก้ว ชายาเจ้าราชภาติกวงศ์ เชียงใหม่ผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน, ช้างเจ้าจันทนา ชายาเจ้าประพันธ์พงศ์ เชียงใหม่ ผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน, ช้างเจ้าศิริประกาย ชายาเจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน, ช้างเจ้าวรรณรา ณ ลำพูน บุตรีเจ้าจักจักร์คำขจรศักดิ์ ผูกเครื่องทองเหลืองกูบประทุน
ตามด้วยช้างขุนนางสยาม ช้างพระยาบริหารราชมานพผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างพระยาอิศรพัลลภ ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างพระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างพระยาอัคนีสราภัย ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างหลวงสิทธิ์นายเวร ผูกเครื่องทองเหลืองทุบโถง, ช้างพระสถลพิมาน ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างนายจ่ายวด ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างนายจ่าเรศ ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง, ช้างนายชิด หุ้มแพร ผูกเครื่องทองเหลืองกูบโถง
ตั้งแต่ช้างมหาดเล็กเชิญเครื่องถึงช้างตัวท้าย มีกำนันผู้ใหญ่บ้านเดินเรียง ๒ แซงสองข้างทางต่อจากข้าราชการอีกตอนหนึ่ง รวมกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น ๘๐๐ คน!แล้วจึงแถวตำรวจภูธร เดินปิดกระบวนทางหลัง คอยกันเพื่อความเรียบร้อย พอกระบวนแห่ช้างถึงเจ้าพนักงานเชิญพระชัยลงจากช้างนำไปที่พัก ช้างเจ้านายพื้นเมืองที่นำเสด็จแวะเข้าเกยข้างศาลารัฐบาลด้านเหนือ เจ้านายลงจากคอช้างมาคอยเฝ้าหน้าพลับพลา
กระบวนหลวงไสช้างพระที่นั่งเข้าเทียบเกยท้ายพลับพลาด้านเหนือ หมอช้าง พระที่นั่งถวายบังคม ๓ ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จลงจากช้างพระที่นั่ง หมอช้างพระที่นั่งถวาย อีก ๓ ครั้ง เสด็จจากเกยขึ้นสู่พลับพลาทอง มีเจ้าผู้หญิงโปรยข้าวตอกดอกไม้ในขันทองคำนำเสด็จ เพื่อความสวัสดิมงคล คือ หม่อมเจ้าหญิงฉัตรสุดาในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน (พระมารดาคือเจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่) กับ เจ้าบุษบง ณ ลำปาง ธิดาเจ้าบุญวาทวงศ์มานิต โปรยนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าวงศ์จันทร์ ณ เชียงใหม่ บุตรีเจ้าราชบุตร กับ เจ้า
แววดาว บุตรีเจ้าราชวงศ์โปรยนำเสด็จสมเด็จพระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ประทับพระเก้าอี้บนพลับพลาทองทอดพระเนตรกระบวนแห่ ช้างกระบวนหลังเริ่มเดินผ่านถวายตัว เมื่อเดินผ่านหน้าพลับพลาแล้วไปเลี้ยวเข้าเกยข้างศาลารัฐบาลทิศเหนือ เจ้านายข้าราชการลงจากช้างมาเฝ้าที่หน้าพลับพลาพอสุดกระบวนแล้ว โปรดพระราชทานเครื่องราชสักการะ มอบข้าราชการ ๕ นายเชิญไปบูชาปูชนียสถาน ตามพระอารามที่มีมงคลนาม ตามประเพณีโบราณของเมืองเชียงใหม่ รวม ๕ แห่งคือ วัดเชียงมั่น วัดเชียงยืน วัดชัยมงคล วัดศรีเกิด วัดศรีบุญเรือง เสร็จแล้ว เสด็จขึ้นประทับบนศาลารัฐบาลมณฑลซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม ฯ
เครดิตภาพ Digital Librories -Gallica / Bibliotheque nationale de France) , หอภาพยนต์แห่งชาติ และสถาบันพระปกเกล้า