*** บทสรุปหลังการประชุมเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย (THAI) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 ปรากฏว่าทุกวาระผ่านทั้งหมด แม้ว่าเจ้าหนี้บางรายจะพยายามตั้งคำถามถึงความชัดเจนในสถานะของกระทรวงการคลังว่า “โหวตได้หรือไม่” เนื่องจากมีการแปลงหนี้เป็นทุนไปแล้ว อาจส่งผลให้คลังไม่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ แต่มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น
ขณะที่เจ้าหนี้บางรายอ้างว่ากระบวนการแปลงหนี้ดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท ...ส่งผลให้คลังยังคงสิทธิเป็นเจ้าหนี้ที่ยังมีสิทธิ์ในการโหวตเช่นเดิม
เอาเป็นว่า...ไม่มีอะไรหยุดเจ้าหนี้รายใหญ่ ผู้ซึ่งอาจมีเบื้องหลังหรือไม่ ก็ไม่มีใครบอกได้ก็แล้วกัน
ผลการโหวตทั้ง 3 วาระ...กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ชนะการบินไทยไปในสัดส่วน 50.4% ต่อ 49.6% หรือ ห่างกันเพียงแต่ 0.8% ซึ่งทั้ง 3 วาระประกอบด้วย
1. วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างขาดทุนสะสมที่มี 60,000 ล้านบาท
2. วาระพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผล ที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
3. วาระขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 ราย ประกอบด้วย “ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร และ “พลจักร นิ่มวัฒนา” รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จากเดิมมีผู้บริหารแผน 3 ราย
สรุปเอาง่ายๆ ก็คือ ฝั่งของกระทรวงการคลังได้ทุกอย่างไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “การบินไทย” ที่ไม่มีผลการขาดทุนสะสม ได้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งจะมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 33.4%, รัฐวิสาหกิจ 4.1%, กองทุนวายุภักษ์ 2.8%, ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 2.8%, เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และ ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 12.6%
รวมไปถึงสามารถที่จะเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูเข้ามาอีก 2 รวมมีผู้บริหารแผนฯ จากทางภาครัฐเป็น 3 คน จากเดิมที่มีเพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม ในวันประชุมเจ้าหนี้ของ “การบินไทย” ที่จัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. 67 เป็นวันเดียวกับที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้มีการเปิดเผย “วาระการประชุมวาระลับ” เกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ของกระทรวงการคลังในการบินไทย “ผ่านกลไกการของกองทุนวายุภักษ์”
โดยที่ “กองทุนวายุภักษ์” จะเข้าไปซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 4,000 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น จากหุ้นที่เตรียมขายจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ซึ่งจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อในวันที่ 6-12 ธ.ค.67 โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ...ทำให้การบินไทยยังเป็นสายการบินแห่งชาติ ขณะเดียวกัน “การบินไทย” ก็จะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต
ว่าแต่การที่ “คลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” ในขณะที่การบินไทยไม่ใช่ “รัฐวิสาหกิจ” จะมีอะไรดีหรือไม่ อย่างไร ???
อย่างแรก...การหลุดพ้นออกมาจากการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ก็จะทำให้สถานะของ “การบินไทย” ที่เคยเกือบจะล้มละลายมาแล้วหลังจากที่เคยถูกมองมาตลอดว่าเป็น “เหมืองทอง” รวมไปถึงเคยถูก “ถลุงเอาทอง” ออกมาอย่างเนินนาน
เนื่องจากโครงสร้างการบริหารจัดการที่ถูกครอบทับโดยความเชื่อที่ว่า “การบินไทย” คือ “บริษัทเอกชนที่มีรายได้แบบเอกชนแต่มีสวัสดิการที่ดีกว่าหน่วยงานภาครัฐ” รวมถึงตลอดเวลาที่ผ่านมาเคยทำทุกอย่าง “ใหญ่โตเกินตัว” เพราะกรอบแนวคิดที่ว่า “แม้บริษัทจะมีรายได้ที่ไม่เพียงพอแต่ก็ยังมีภาครัฐที่จะเข้ามาดูแล” ในตอนนี้ได้จบลงไปแล้ว
อย่างที่สอง...ถือว่าเป็นยุคใหม่ของ “การบินไทย” หลังจากที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการซึ่งเน้นไปที่การ “ปรับลดเพื่อเติบโต” ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนรุ่นของเครื่องบิน ให้สามารถควบคุมต้นทุนการดูแล และการซ่อมบำรุง การปรับลด หรือ ยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่สร้างรายได้ หรือ กำไร การปรับปรุงวิธีการขายตั๋วให้มีประสิทธิภาพ การขายสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก
รวมไปถึงการลดจำนวนของบุคคลกรที่เป็นภาระหรือไม่สร้างรายได้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ “การบินไทย” สามารถโฟกัสไปที่รายได้ และรายจ่ายได้อย่างชัดเจนว่าควรลดหรือเพิ่มสิ่งใด จึงจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “การบินไทย” จะหลุดออกมาจากสถานะของการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่การที่ทาง “กระทรวงการคลัง” ยังคงไม่ปล่อยให้การบินไทยมีอิสระ ด้วยการพยายยามเข้าไปถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเจ๊เมาธ์เชื่อว่าไม่ใช่แค่เพียงความอยากที่จะเข้าไปถือหุ้นเพื่อเอา “ปันผล” แต่ยังหมายถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจธุรกรรมของ “การบินไทย” ที่ไม่ว่าใครต่างก็รู้ว่า แต่ละครั้งมักจะมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งก็ไม่แน่ว่าอาจจะ “มีเงินทอน” ที่มีมูลค่ามหาศาลด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน การมีฝั่งการเมืองที่ “แผง” อยู่ในเงาของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะส่งคนเข้ามาเป็น “บอร์ดบริหาร” ตามสัดส่วนที่มีอยู่ ก็ไม่แน่ว่านอกจากเรื่องของการดูแลผลประโยชน์ ที่คิดว่ากลุ่มของตนควรจะได้รับแล้ว บุคคลเหล่านี้ยังจะมีความสามารถและอำนาจที่แท้จริงในเชิงการบริหาร ที่จะทำให้การบินไทยเจริญก้าวหน้าได้จริงหรือไม่
เอาเป็นว่า ถ้าไม่อยากให้อนาคตของการบินไทย “เดินซ้ำรอยเดิม” เหมือนที่เคยเป็นมาก็ต้องช่วยกับจับตาดูให้ดี แม้ว่าจะไม่ใช้รัฐวิสาหกิจที่ต้องแบ่งเอาเงินภาษีของประชาชนเข้ามาช่วยอุ้ม หรือ ช่วยดูแล...แต่ถึงตอนนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “สายการบินแห่งชาติ” อยู่เหมือนเดิมค่ะ