รถยนต์ กระทุ้งปล่อยสินเชื่อ ปลุกกำลังซื้อปี 68 ดัน ศก.-ห่วงโซ่โตทั้งระบบ

03 ธ.ค. 2567 | 21:35 น.

โค้งสุดท้ายของปี 2567 มีความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลุกกำลังซื้อ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแม่เหล็กของประเทศอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์ กระทุ้งปล่อยสินเชื่อ ปลุกกำลังซื้อปี 68 ดัน ศก.-ห่วงโซ่โตทั้งระบบ

ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.)ได้ออกมาประกาศปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปีนี้ลงจาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน (ผลิตขายในประเทศ 4.5 แสนคัน ผลิตเพื่อส่งออก 1.05 ล้านคัน) หรือลดลง 2 แสนคัน ซึ่งถือเป็นยอดผลิตตํ่าสุดในรอบ 4 ปี

ทั้งนี้มีปัจจัยหลักจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน จากหนี้ครัวเรือนสูง จากเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอ และจากสงครามที่กระทบเศรษฐกิจโลก ขณะที่ตัวเลขยอดขายรถกระบะในประเทศที่เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย ในเดือนตุลาคม 2567 มีเพียง 10,896 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง 42%

ต่อทิศทางสถานการณ์การขายรถปิกอัพ หรือรถกระบะ และอุตสาหกรรมรถยนต์ในภาพรวมปี 2568 จะเป็นอย่างไร และจะมีแนวทางการปลุกกำลังซื้ออย่างไรนั้น นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจ

จี้รัฐกระตุ้นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปี 2568 ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในกลุ่มรถกระบะอาจจะดีขึ้น หากรัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้วยการกระตุ้นสถาบันการเงินให้ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศกว่า 90% ได้มากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ทั้งผู้ผลิตยางล้อ กระจก ท่อไอเสีย หนัง ผ้า เหล็ก ฯลฯ จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย รวมถึงแรงงานจะได้รับค่าจ้างเต็ม 100% และมีค่าทำงานล่วงเวลามากขึ้น พนักงานขาย พนักงานสถาบันการเงิน บริษัทประกันภัยจะมีรายได้มากขึ้น

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เมื่อคนทำงานมีรายได้ดี ก็จะมีอำนาจซื้อมากขึ้น และเกิดการจ้างงานต่อเนื่อง เศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโต เป็นวงจรขาขึ้นเหมือนใยแมงมุม เมื่อการผลิตรถกระบะมากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนรถกระบะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ไทยจะกลับมาส่งออกรถกระบะได้ดีเหมือนเดิม สมกับเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของประเทศที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะส่งออกไปทั่วโลก”

ยอดขายรถกระบะร่วงกว่า 2 แสนคัน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในภาพรวมลดลงมาหลายเดือน โดย 22 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนตุลาคม 2567 ในส่วนของยอดขายรถกระบะลดลงไปแล้วกว่า 2 แสนคัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนกว่า 30% ของเศรษฐกิจไทยโดยรวม มีแรงงาน 16% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด เมื่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ เศรษฐกิจของประเทศก็ขยายตัวในอัตราตํ่า

ดังนั้นถ้ารัฐบาลกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อรถกระบะได้มากขึ้น 1 แสนคัน อุตสาหกรรมรถยนต์จะโตอย่างน้อย 20% ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ เมื่อรถกระบะขายได้มากขึ้น รัฐบาลก็จะเก็บภาษีสรรพสามิต เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและบริษัทซัพพลายเชนทั้งหลาย รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทดังกล่าวเพิ่มขึ้น”

ส่วนการผลิตรถยนต์นั่งในปีหน้าคงเติบโตขึ้นเล็กน้อย จากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยต้องผลิตให้ได้ 1.5 เท่า ของการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในปี 2565-2566 ซึ่งมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 86,000 คัน

หวังเป็นฮับผลิตรถยนต์ทุกชนิด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในปีนี้มีหลายบริษัทเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากจีน) เพื่อชดเชยการนำเข้ามาจำหน่ายในปี 2565 และ 2566 ต่อจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นบริษัทแรก ทั้งนี้ต้องช่วยกันสนับสนุนการใช้ ทั้งรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันและรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเพื่อให้ไทยเป็นฮับการผลิตรถยนต์ทั้งที่ใช้นํ้ามันและรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออกและขายในประเทศ เพื่อเศรษฐกิจไทยจะได้เติบโต คนไทยได้มีงานทำมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น

จับตาสหรัฐฯจ่อขึ้นภาษีนำเข้า

โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ยังตั้งข้อสังเกต กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐระบุจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งในอดีตสหรัฐก็เคยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในสหรัฐ

กรณีนี้มองว่า ในระยะสั้นไทยอาจต้องเร่งส่งออกสินค้าในกลุ่มที่คาดว่าจะถูกขึ้นภาษี ส่วนในระยะกลางและระยะยาวไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนโดยเฉพาะนักลงทุนที่ไม่ใช่คนจีนแผ่นดินใหญ่ และต้องไม่ใช้ชิ้นส่วนของจีนเมื่อย้ายฐานมาผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับเวียดนาม และมาเลเซียแล้ว การได้ดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐยังน้อยกว่าสองประเทศนี้ หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจากไทยมองว่าคงไม่สูงมาก

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,050 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567