วัดพลังสหรัฐ-จีน “สงครามชิป” ชิงเจ้าเทคโนโลยีโลก ศึกนี้ใครจะชนะ

17 ส.ค. 2566 | 09:21 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 09:54 น.

สหรัฐ-จีนเปิดศึก Chip War หรือสงครามชิป ชิงเจ้าเทคโนโลยีโลกยุคดิจิทัล ใครมีความเคลื่อนไหวอย่างไร ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ ใครเป็นพันธมิตรฝั่งไหนบ้าง อ่านได้จากบทความนี้

วัดพลังสหรัฐ-จีน  “สงครามชิป” ชิงเจ้าเทคโนโลยีโลก ศึกนี้ใครจะชนะ

บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช
                      นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญ

                      เศรษฐกิจระหว่างประเทศ   

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐและนาโต้กับพันธมิตรรัสเซียและจีน ส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากมาย เดิมปี 2022 เศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 คาดว่าจะขยายต้ว 5% แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน “ทำให้ GDP โลกโตเพียง 3.1%” (“Consequences of the War in Ukraine: The Economic Fallout”, Brian Michael Jenkins, March 7, 2023)  “GDP ลดลง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์” (OECD, September 26, 2022)

สงครามชิป (Chip War) หรือสงครามเซมิคอนดักเตอร์ไม่แตกต่างจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน เพราะมี 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐกับจีนและพันธมิตรเข้าไปเกี่ยวข้อง เพียงแต่อาวุธที่ต่อสู้กันไม่ใช้ปืนและรถถัง แต่เป็น “เทคโนโลยีและธาตุหายาก (Rare Earth)” ประเทศไหนคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้เท่ากับคุมเศษฐกิจโลก โดยประเทศที่เป็นต้นตำรับของการพัฒนาชิปคือ สหรัฐอเมริกา

วันที่ 16 ธันวาคม 1947 (หลังสงครามโลก 2 ปี) เป็นวันกำเนิดชิปโลก (Chip War, Chris Miller) เพราะเป็นวันที่ถูกคิดค้นทรานซิสเตอร์เข้ามาแทนหลอดสูญญากาศ (Vacuum Tube) ที่ในสมัยนั้น โดยใช้ในเครื่องคิดเลขและวิทยุ  คิดค้นกันที่ Bell Lab ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ มีนาย William Shockley และคณะ (ตาม Wikipedia เริ่มต้นพัฒนามาจากนักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย “Julius Edgar Lilienfeld” ในแคนาดาเมื่อ 22 ตุลาคม 1925) แต่ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะไม่มีบทความทางวิชาการสนับสนุน

ปี 1934 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน “Oskar Heil” ได้พัฒนาทรานซิสเตอร์ต่อ แต่ไม่มีหลักฐานว่าทรานซิสเตอร์ถูกสร้างขึ้น) มีบริษัท AT&T เป็นเจ้าของ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมชิปจึงมีความสำคัญต่อการสื่อสารเพราะ AT&T เป็นบริษัทด้านโทรคมนาคม

 

ทรานซิสเตอร์ทำมาจากธาตุเคมีสำคัญ 3 ชนิดคือ Silicon dioxide,  Germanium และ Gallium แล้วนำมารวมในแผงที่เรียกว่า “Integrated Circuit (IC)” ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2022 มากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (Mapping the Semiconductor Supply Chain : the Critical Role of the Indo Pacific Region, May 30, 2023) ปี 2035 คาดว่าไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกมากเป็นอันดับ 4 รองจาก น้ำมันดิบ รถยนต์ และน้ำมันกลั่น (Omri Wallach, December 14,2021) แต่ตัวเลขของ IBIS World (2023) บอกว่าส่งออกเป็นอันดับที่เก้า (ดูตาราง)

เซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญในหลายอุตสาหกรรมทั้งศูนย์ข้อมูล คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาวุธ รวมไปถึงกิจกรรมการเกษตรและบริการที่ต้องใช้เทคโนโลยี่เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)” สอดคล้องกับประธานาธิบดีจีน “Xi Jinping” ที่ประกาศว่า “without informatization there is no modernization” หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนด้วยสโลแกน “Innovation Driven Growth Model”  ซึ่งก็คือ “ความฝันของจีน (Chinese Dream)” นั่นเอง

วัดพลังสหรัฐ-จีน  “สงครามชิป” ชิงเจ้าเทคโนโลยีโลก ศึกนี้ใครจะชนะ

เป้าหมายจีนในการเป็นเบอร์หนึ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อยู่ใน “Made in China 2025” คือลดพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติลงจาก 85% เหลือ 30% จีนจึงต้องทำทุกวิธีทางเพื่อไปถึงเป้าหมายให้ได้ ทั้งตั้ง “Big Fund (150 พันล้านดอลลาร์)” และสิทธิประโยชน์

ขณะเดียวกันต้องสู้กับพันธมิตรสหรัฐฯ ที่จีนมีปัญหาด้วย ทั้งไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ที่ทำเซมิคอนดักเตอร์ด้วย เช่น หากจีนต้องการยืนเบอร์ 1 รถยนต์อีวีโลก ชิปมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใช้เซมิคอนดักเตอร์มากกว่ารถยนต์สันดาปถึง 2 เท่า (The three drivers of the spike in demand for semiconductors, Schroders, 24/05/2021) (ในแต่ละปีจีนนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์มากกว่าน้ำมัน)

ด้วยเหตุผลภายในประเทศและนอกประเทศจีน สงครามชิปจึงรุนแรงเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกับโจ ไบเดน สหรัฐฯ สกัดจีนด้วย 1.กฏหมาย วันที่ 9 สิงหาคมนี้ ครบ 1 ปี “the CHIPS and Science Act” สหรัฐฯ ที่ใช้เงิน 280 พันล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ ด้วย 3 เหตุผลคือ 1. สกัดกั้นจีนในการขึ้นเป็น 1 ของโลกทั้งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 2.ทวงความเป็นเบอร์หนึ่งด้านเซมิคอนดักเตอร์โลก และ 3.แก้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

2.พัฒนาไปพร้อมกับพันธมิตร ญี่ปุ่นมีข้อตกลงกับสหรัฐฯ the 1986 U.S.-Japan Semiconductor Agreement) ซัมซุงเกาหลีประกาศเมื่อ ก.ค. 2565 ลงทุน 192 พันล้านดอลลาร์ 20 ปีข้างหน้าในสหรัฐฯ  บริษัท TSMC ไต้หวัน ลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐ

3.ควบคุมส่งออก ห้ามส่งเซมิคอนดักเตอร์ไปยัง Huawei และบริษัท  SMIC  ขณะที่จีนตอบโต้โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 “จีนควบคุมการส่งออก” Germanium และ Gallium ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิปที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 50% (2021, CNN Business) ซึ่งธาตุเคมีทั้ง 2 จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก สงครามครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ใครชนะ ใครเพลี่ยงพล้ำ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์