พายุเศรษฐกิจจีน “เงินฝืด หนี้ท่วม GDP เสี่ยงโตต่ำ” ลามซัดโลก

03 ก.ย. 2566 | 04:28 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 07:39 น.

นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ชำแหละเศรษฐกิจจีนปี 2023 มีความเสี่ยงขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่มีปัญหาในประเทศที่กำลังเกิดขึ้นมากมาย ที่จะส่งผลกระทบต่อโลก รวมถึงประเทศไทย

พายุเศรษฐกิจจีน “เงินฝืด หนี้ท่วม GDP เสี่ยงโตต่ำ” ลามซัดโลก

บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช
นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

"จีน" มีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นประเทศส่งออกอันดับ 1 ของโลก ปี 2022 ส่งออก 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 16% ของการส่งออกโลกที่มีมูลค่า 21 ล้านล้านเหรียญ ตามด้วยสหรัฐฯ 9% จีน สหรัฐ เยอรมัน เป็น 3 ประเทศที่ส่งออกเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) จีนส่งออกเป็นอันดับหนึ่งโลกตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา (สัดส่วน 9% ของการส่งออกโลก) จนถึงปัจจุบัน โดยแซงหน้าเยอรมัน

จีนเป็นประเทศลำดับ 3 ในการนำเข้าของโลก มูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ยุโรปนำเข้ามากสุด ตามด้วยสหรัฐฯ) ปี 2022 ทุนจีนออกไปลงทุน (FDI Outward) มากเป็นอันดับสาม รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และจีนเป็นที่รับเงินลงทุนต่างประเทศ (FDI Inward) มากเป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐฯ

เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงจีน 3 เรื่องใหญ่ คือ ส่งออกไปจีนมีสัดส่วน 12% (อันดับสามรองจากสหรัฐฯ และอาเซียน) จีนลงทุนในไทยอันดับหนึ่งแซงหน้าญี่ปุ่นเป็นปีแรกในปี 2022 และนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยมากสุด 11 ล้านคน (2019)

เศรษฐกิจจีนปี 2023 กำลังประสบปัญหาหนัก “ขาดความเชื่อมั่น” ทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้มีโจทย์เศรษฐกิจหลายเรื่องที่ท้าทาย ได้แก่ “GDP 2023 อาจต่ำกว่า 5%” เพราะตัวเลข “ด้านอุปสงค์ (ความต้องการ)” ไม่ดีเลย ได้แก่

1.การส่งออกลดต่อเนื่อง สัดส่วนส่งออกจีนเหลือเพียง 20% (2022) ของ GDP จีน (เมื่อ 10 ปีที่แล้วสูง 40%) อัตราการขยายตัวการส่งออก เคยขยายตัว 60-100% แต่ปี 2022 เหลือเพียง 4.5% ปี 2023 การส่งออกจีนติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน พฤษภาคม  -7.5% มิถุยายน -12.4% และ กรกฎาคม -14.5%

2.การบริโภคภายในลดลง การบริโภคภายในประเทศลดลงจากสัดส่วน 65% ของ GDP (2021) เหลือ 32% (2022) คาดว่าสัดส่วนปี 2023 ลดลงต่อเนื่อง และยังเห็นได้จากยอดขายสินค้าปลีกช่วงเมษายน ถึง กรกฎาคม ลดลงจาก 18% เหลือ 2.5%

3.การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง การลงทุนส่วนนี้ติดลบตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา และครึ่งปีแรก 2023 ยังติดลบที่ -8% ราคาบ้านและคอนโดฯ ลดลงตลอดปี 2022 เป็นต้นมา

พายุเศรษฐกิจจีน “เงินฝืด หนี้ท่วม GDP เสี่ยงโตต่ำ” ลามซัดโลก

เมื่อพิจารณา “ด้านการผลิต” วัดได้จาก ดัชนีอุตสาหกรรม (PMI) ยังไม่ฟื้น เพราะ 4 เดือน (เมษายน-กรกฎาคม 2023) ยังต่ำกว่า 50  ส่วนดัชนีไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม (Non-manufacturing Purchasing Managers' Index : PMI) แม้ว่ายังมีค่าดัชนีสูงกว่า 50 แต่ลดลง 4 เดือนติดต่อกัน (มี.ค -มิ.ย.) เช่นกัน

“ภาวะเงินฝืด (Deflation)” เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (ระดับราคาสินค้าติดลบ) ราคาสินค้าผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม -0.3% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี (เคยเกิดขึ้นในปี 2021) ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่กำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อ แต่กรณีของจีนราคาสินค้าลดลงติดลบ สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังถดถอย กำลังซื้อคนจีนลดลง คนไม่ใช้จ่าย เพราะรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก รวมถึงคนไม่มีรายได้

คนจีนอายุ 16-24 ปี ว่างงานตั้งแต่ต้นปี 2023 เพิ่มจาก 17% เป็น 21% (ยังไม่รวมคนที่ไม่จบปริญญาตรีที่มีสัดส่วนอีก 40%) บัณฑิตจีนจบใหม่ปี 2023 จำนวน 12 ล้านคน มีโอกาสสูงที่จะว่างงาน รายได้จะไม่มี ภาวะเงินฝืดจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจจีนทั้งระบบ (Spiral) เพราะเมื่อไม่มีการจับจ่ายของประชาชน โรงงานอุตสาหกรรมก็ลดกำลังการผลิต คนก็ว่างงาน รายได้คนในประเทศก็ลดลง

4.หนี้ท่วม หนี้ของประเทศต่าง ๆ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ หนี้ครัวเรือน หนี้บริษัท และหนี้รัฐบาล ซึ่งหนี้ทั้ง 3 ส่วนของจีนรวมกันแล้วเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ใน ปี 2006 จีนมีหนี้รวม 146% ต่อ GDP และในปี 2023 ณ ไตรมาส  2 หนึ้รวมเพิ่มเป็น 282% ต่อ GDP (Bloomberg, 27 July 2023) สามารถแบ่งออกเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 18% หนี้รัฐบาล 20% ที่เหลือเป็นหนี้บริษัทเอกชน

โดยเฉพาะหนี้บริษัทในภาคอสังริมทรัพย์ (ขนาดเศรษฐกิจของภาคอสังริมทรัพย์จีนมีขนาดใหญ่มาก คิดเป็น 30% GDP) มีหลายบริษัทอสังริมทรัพย์ที่มีหนี้สูง เช่น บริษัท Evergrande Group (ทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน รถ EV และพลังงงาน) ปี 2022 มีหนี้ 340 พันล้านเหรียญ และขาดทุน 66 พันล้านเหรียญ และบริษัท Country Garden Holdings  มีหนี้ 200 พันล้านเหรียญ (2022) และก็ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยผู้ซื้อพันธบัตรของบริษัทในปี 2024 จีนแก้ปัญหาโดย “Three Red Lines Policy 2020” (หนี้สินไม่เกิน 70% สินทรัพย์ หนี้สินสุทธิไม่เกิน 100% ผู้ถือหุ้น และเงินสำรอง 100%) ส่วนรัฐฯ ท้องถิ่นกระตุ้นให้เกิดการซื้อบ้าน เช่น ลดเงินดาวน์ และลดภาษี

พายุเศรษฐกิจจีน “เงินฝืด หนี้ท่วม GDP เสี่ยงโตต่ำ” ลามซัดโลก

5.การลงทุนลดลง การลงทุนในจีนประกอบด้วย 4 ส่วนคือ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม (ผ่านทางภาคเอกชน,ยังไม่ขยายตัว) การลงทุนในอสังริมทรัพย์ (ผ่านทางภาคเอกชน ติดลบต่อเนื่อง) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (ผ่านงบประมาณรัฐบาล, เครื่องมือเดียวที่มีอยู่) และ FDI (ผ่านนักลงทุนต่างประเทศ) ลดลงต่ำสุดในรอบ 25  ปี ตั้งแต่ปี 1998 เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลจีน ออก “New Plan for FDI” โดยการให้วีซ่าและให้อนุญาตให้อยู่อาศัยง่ายขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจีนกำลังใช้สรรพกำลังทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจ 2023 ขยายตัวตามเป้า 5% แต่ดูเหมือนว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมายังไม่ได้ผลเท่าที่หวังไว้