พื้นที่ปลูกกาแฟมากสุดของอินโดนีเซียอยู่ใน 5 จังหวัดเกาะสุมาตรา มีสัดส่วน 50% คือสุมาตราใต้ (South Sumatra หรือ Sumatera Selatan สัดส่วน 20% ของพื้นที่ปลูกกาแฟ เมืองเอกคือเมดาน) ลัมปุง (Lampung สัดส่วน 12% ของพื้นที่ปลูกกาแฟ เมืองเอกคือบันดาลัมปุง) สุมาตราเหนือ (North Sumatra หรือ Sumatera Utara สัดส่วน 8% ของพื้นที่ปลูกกาแฟ) อาเจะฮ์ (Aceh เมืองหลวงบันดาอาเจะฮ์) และ เบงคลูรู (Bengkulu เมืองหลวงเบงคลูรู) มีเกษตรกรปลูก 1.6 ล้านคน (เวียดนามมี 6 แสนครัวเรือน เกษตรกรปลูก 1.8 ล้านคน มีพื้นที่ 7 แสนเฮกตาร์)
ผลผลิตอินโดนีเซีย 700 กก./เฮกตาร์ แต่เวียดนาม 3 ตัน/เฮกตาร์ ผลผลิต 75% เป็นโรบัสต้า และที่เหลือเป็นอาราบิก้า ขณะที่ไทยผลิตปีละ 2 หมื่นตัน จากพื้นที่ปลูก 2 แสนไร่ ร้อยละ 60 เป็นโรบัสต้า
กาแฟเข้ามาปลูกในอินโดนีเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 นำเข้ามาจากเยเมน โดย “สหบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (The United East India Company หรือ VOC)” สมัยที่อินโดนีเซียเป็นเมืองขึ้นเนเธอร์แลนด์ (อยู่ภายใต้อาณานิคมดัตซ์ 1603-1942 และญี่ปุ่น 1942-1945) ในอดีต (ก่อน 1603) เมืองหลวงชื่อว่า “Sunda Kelapa” ถูกเปลี่ยนเป็น “จายาการ์ตา (Jayakarta)” และดัตซ์เปลี่ยนเป็น “บัตตาเวีย” (Batavia 1619–1942) ญี่ปุ่นเข้ามาเปลี่ยนชื่อเป็น Jakarta และได้รับเอกราช เมื่อปี 1949
กาแฟปลูกที่แรกในเกาะชวา ที่จังหวัด Banten ใกล้จาการ์ตา เมืองเอกคือเซรัง (Serang) และได้กลายมาเป็นผู้ผลิตกาแฟอันดับต้น ๆ ของโลกตั้งแต่นั้นมา มีการกระจายไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย
กาแฟขี้ชะมดในอินโดนีเซียถือว่า เป็นต้นตำรับของกาแฟพิเศษ (อินโดนีเซียมีกาแฟชนิดพิเศษหลายประเภท) ที่มาพร้อม ๆ กับปลูกกาแฟช่วงแรกๆ เกิดจากบริษัท VOC ห้ามแรงงานเก็บผลกาแฟกิน แรงงานหันไปเก็บกะลากาแฟจากขี้ชะมดแทน บริษัท VOC จึงนำไปขายต่อเพราะรสชาติดีกว่ากาแฟปกติ
ปัจจุบันอินโดนีเซียผลิตกาแฟขี้ชะมดมากสุดในโลก ประมาน 4 หมื่นตันต่อปี ในอดีตเก็บจากป่า แต่เมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้น วิธีการผลิตคือนำชะมดมาเลี้ยงในกรงแล้วให้กินกาแฟเชอรี่ (Coffee Cherry) ชะมด (Civet cat) เป็นสัตว์เอเชียและอาเซียน มีหลายพันธุ์ คนไทยเรียกว่าอีเห็น ภาคใต้ของไทยเรียก “มูสัง” ตรงกับคำว่า “Musang” ในภาษามลายู
ผมมีโอกาสได้คุยกับ “คุณสรุเชษฐ์ ยุทธสุนทร” ผู้บุกเบิกกาแฟขี้ชะมดเมืองไทย พบว่าไทยผลิตกาแฟขี้ชะมด ไม่เกิน 1 ตันต่อปี ขายกัน “แก้วละ 500 บาท (ก่อนหน้า 1,500 บาท/แก้ว)” และได้คุยกับ “คุณดำ แห่งแคมป์ช้างทวีชัย” ที่ผลิตกาแฟขี้ช้าง ขาย “แก้วละ 360 บาท”
ทั้งกาแฟขี้ชะมดอินโดฯ เรียกว่า “Kopi Luwak” และกาแฟขี้ช้างไทยเรียกว่า “Black Ivory Coffee” ต่างก็บอกว่าเป็น “กาแฟที่แพงที่สุดในโลก” ขณะนี้กาแฟขี้ช้างไทยไม่ได้ทำตลาดหรือส่งออกไปขายต่างประเทศ ส่วนกาแฟขี้ชะมดอินโดฯ ส่งออกไปขายต่างประเทศแล้วนานแล้ว นั่นคือ “ครองตลาดชนิดกาแฟพิเศษในตลาดโลก”
หากไทยต้องสู้กับกาแฟอินโดนีเซียในตลาดนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ 1.เพิ่มผลผลิตกาแฟ ไทยต้องผลิตมากกว่า 2 หมื่นตัน เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับช้างและอีเห็นในเมืองไทย และจะทำให้ราคากาแฟถูกลงที่สามารถแข่งกับกาแฟอินโดฯ ได้
2.สร้างความมั่นใจ เกิดคำถามจากผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวว่าเป็นกาแฟที่เกิดจากขี้ของทั้งช้างและอีเห็นจริงมั้ย 3.ประชาสัมพันธ์ ในตลาดต่างประเทศให้มั่นใจว่า ผลิตมาจากการไม่ทรมานหรือทารุณสัตว์
4.เพิ่มศิลปะการดื่ม รวมถึงอรรถรสในการดื่มกาแฟขี้ช้างและขี้ชะมด เหมือนกับที่กาแฟขี้ชะมดของร้านกาแฟสดไร่คุณหญิง ที่กาญจนบุรี (สั่งกาแฟขี้ชะมด 1 แก้ว ได้ 3 อย่างคือ ชาเพื่อไม่ให้มีรสชาติอาหารอื่นอยู่ในลิ้น กาแฟขี้ชะมด และกาแฟปกติเพื่อเทียบรสชาติกับกาแฟขี้ชะมด)
5.เพิ่มจำนวนอีเห็น ตั้งศูนย์เพาะพันธุ์อีเห็นเพื่อธุรกิจกาแฟชนิดพิเศษ