สหรัฐฯ ใช้คำว่า “อาหารสุขภาพ (Healthy Food)” ในขณะที่สหภาพยุโรปใช้คำว่า “ระบบอาหาร (Food System)” ที่ไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรหายาก มลพิษและของเสีย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ โรคระบาด และประชากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการปฎิรูปเศรษฐกิจสีเขียวยุโรป (European Green Deal)
สำหรับในประเทศไทยไม่ได้ให้คำจำกัดความชัดเจน เพียงแต่บอกว่าอาหารแห่งอนาคต ประกอบด้วยอาหารกลุ่มหลัก ได้แก่ 1.อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) คืออาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยป้องกันโรคและชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะของร่างกาย เช่น นมที่มีโปรตีนสูงเหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายมีความต้องการสารอาหารจำพวกโปรตีนเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ
2.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) เป็นอาหารที่ใช้แทนยา ตามแพทย์สั่งและแนะนำ เพื่อช่วยผู้ป่วยได้รับสารอาหารถูกต้องและเหมาะสม หรืออาจจะเรียกว่า “อาหารสำหรับผู้ป่วย” เช่น นมสำหรับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้าตาลในเลือด
3.อาหารอินทรีย์ (Organic Food) เป็นกลุ่มอาหารเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ปลอดภัย ปลอดสารพิษ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง
4.อาหารจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Novel Food) หรืออาหารใหม่ ผลิตจากพืชและสัตว์ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่หรืออาหารพื้นเมืองแปลก ๆ ที่ไม่เคยเป็นอาหารมาก่อน ได้แก่ แมลง รถด่วน (หนอน) ตั๊กแตน จิ้งหรีด ที่กลายเป็นแหล่งอาหารใหม่ นอกจากนี้มีเค้กจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะปกติเค้กจะทำจากแป้งสาลี หรือสินค้าประเภทน้ำพริกกะปิผงซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อความสะดวก หรือส้มตำอบแห้ง
และ 5.อาหารทางเลือกจากพืช (Plant-based food) อาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชมาดัดแปลงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีรสชาติ รูปลักษณ์ เนื้อสัมผัสและกลิ่นใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารครบถ้วน หรือมากกว่าเดิม ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ธัญพืช แครอท ฟักทอง บีทรูท เป็นต้น
ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พฤติกรรมผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารตามไปด้วย รวมถึงปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด โดยแนวโน้มของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จึงหันไปบริโภคอาหารกลุ่มสุขภาพ อาหารที่มาจากธรรมชาติไม่ปรุงแต่งและที่มีความปลอดภัย รวมถึงกลุ่มอาหารที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เหตุผลที่ทำให้การตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารเปลี่ยน มีเหตุผลที่หลากหลาย ได้แก่ 1.รายได้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยในปี 1960 ผู้บริโภคทั่วโลกมีรายได้เฉลี่ย 459 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 12,263 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี (ปี 2021) ส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกในทุกปี ยกเว้นบางปีที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ปี 2020 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีมีอัตราการขยายตัวเป็นลบ เนื่องจากโรคระบาตโควิด (World GDP per Capita 1960-2023, Macrotrends)
2.คนมีอายุยืนขึ้น ปี 1950 อายุคนเฉลี่ยทั่วโลก 50 ปี และในปี 2020 คนมีอายุเฉลี่ยเพิ่มเป็น 70 ปี (Life Expectancy of the World Population, Worldometer) 3. คนมีการศึกษามากขึ้น ในปี 2000 ประเทศนอกกลุ่ม OECD มีเรียนในมหาวิทยาลัย 50 ล้านคน และปี 2020 เพิ่มเป็นมากกว่า 100 ล้านคน ในขณะที่กลุ่มประเทศ OECD ปี 2000 มีคนเรียนระดับมหาวิทยาลัย 100 ล้านคน และเพิ่มเป็น 200 ล้านคน (Education Indicators in Focus, OECD, May 2012)
4.ความเป็นเมือง (Urbanization) Hannah Ritchie and Max Roser 2018 พบว่า ก่อนปี 2007 จำนวนคนอาศัยในชนบทมากกว่าคนอาศัยในเมือง แต่หลังจากนั้นจำนวนคนอาศัยในเมืองมีมากกว่าจำนวนคนในชนบท 5.พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยน คนในประเทศพัฒนาแล้ว คำนึงถึงอาหารที่รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม และสินค้าปลอดภัย ปลอดสารพิษ
จากเทรนด์ในไทยและของโลกที่ให้ความนิยมอาหารแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น คาดในอนาคตนับจากนี้ตลาดจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ