โรงงาน Tesla ในอินโดฯไม่แน่นอนสูง โอกาสส้มหล่น "ไทย-มาเลเซีย"

20 ม.ค. 2567 | 05:04 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 05:27 น.

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เขียนบทความเรื่อง โรงงาน "Tesla" ในอินโดนีเซีย : เกิดไม่เกิด? โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในช่วงที่ผ่านมา จับตาส้มจะหล่นใส่ไทยหรือมาเลเซีย มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

 

ไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก  BYD ของจีนแซงหน้า Tesla ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก จำนวน 526.4 พันคัน  Tesla ขายได้เพียง 484.5 พันคัน แต่ยอดรวมทั้งปี Tesla ยังเป็น “เบอร์หนึ่งของโลก” (แต่หากรวมรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบตเตอรี่กับไฮบริค BYD ขายเป็นอันดับหนี่ง)

ในอาเซียน Tesla สนใจลงทุน 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกที่คุยกับ Tesla ให้เข้ามาลงทุน รัฐมนตรีกระทรวงการเดินเรือและกิจการลงทุนของอินโดนีเซีย (นาย Luhut Binsar Pandjaitan)  พบ Elon Musk ที่โรงงาน Tesla Gigafactory (ปัจจุบัน Tesla มี Gigafactory  6 แห่งทั่วโลก ในสหรัฐฯ มีเท็กซัส นิวยอร์ก และเนวาดา นอกนั้นมีใน จีน เยอรมัน และเม็กซิโก) ที่สำนักงานใหญ่ในเมือง Austin  รัฐเท็กซัสเมื่อเมษายน 2565  ต่อมาประธานาธิบดีโจโค วิโดโด  พบกับ Elon Musk เมื่อเดือน พฤษภาคม 2565 ที่เท็กซัส สหรัฐฯ

โรงงาน Tesla ในอินโดฯไม่แน่นอนสูง โอกาสส้มหล่น \"ไทย-มาเลเซีย\"

เท่านั้นยังไม่พอประธานาธิบดีอินโดนีเซียพบโจ ไบเดนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่สหรัฐฯ  ขณะที่นายกฯ มาเลเซียอันวาร์ อิมราฮิม คุยกับ Musk เพื่อดึงมาลงทุนเมื่อกลางปี 2566 และนายกฯ เศรษฐา  ทวีสิน ของไทยคุยเมื่อปลายปี 2566 เพื่อชวนมาตั้งโรงงานแบตเตอรี่และเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ของสหรัฐฯ (IRA กำหนดสัดส่วนการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศและต่างประเทศ ไม่อย่างนั้น ผู้ซื้อรถ EV ในสหรัฐฯ จะได้ไม่รับส่วนลด 7,000 เหรียญต่อคัน)

วัตถุประสงค์หลักของอินโดนีเซียเพื่อให้อินโดนีเซียเป็น “หนึ่งในศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโลก และสร้างโรงงานนิกเกิล (Nickel) เพื่อทำแบตเตอรี่” อินโดนีเซียมีปริมาณแร่นิกเกิลเป็นอันดับหนึ่งของโลกสัดส่วน 30% จำนวน 21 ล้านตัน นิกเกิลเป็นวัตถุดิบ 1 ใน 4 แร่ที่ไปทำแบตเตอรี่ (ลิเทียม นิกเกิล โคบอลและแกรไฟต์) ส่วนใหญ่อยู่ในเกาะสุราเวสีตะวันออกเฉียงใต้ (32%) เกาะมาลูกูเหนือ (26%) และสุราเวสีกลาง (26%) ตามด้วยฟิลิปปินส์ 15%

โรงงาน Tesla ในอินโดฯไม่แน่นอนสูง โอกาสส้มหล่น \"ไทย-มาเลเซีย\"

นิกเกิลสามารถทำแบตเตอรี่และเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel)   เพื่อดึงนักลงทุนมาทำแบตเตอรี่รถ EV อินโดนีเซียจึงห้ามส่งออกนิกเกิลตั้งแต่ 10 มิ.ย. 2020 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีหลายบริษัทของจีน Tsingshan Group และ Zhejiang Huayou Cobalt Co ทำหมืองแร่นิกเกิลเพื่อทำแบตเตอรี่ รวมทั้งบริษัท LG ,CATL และ Foxconn เข้ามาลทุนทำแบตเตอรี่ เช่นกัน จนถึงวันนี้เกือบ 2 ปีแล้ว การสร้างโรงงาน Tesla หรือโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อป้อนให้รถ EV ของ Tesla หรือโรงงานผลิตรถยนต์ “ก็ยังไม่มีความคืบหน้า” เหตุผลหลักเพราะถูกคัดค้านหนักจากกลุ่มสิ่งแวดล้อม Wahana Lingkungan Hidup Indonesia (WALHI) รวมถึงรายงานผลกระทบอื่น

โรงงาน Tesla ในอินโดฯไม่แน่นอนสูง โอกาสส้มหล่น \"ไทย-มาเลเซีย\"

กลุ่ม WALHI เป็นกลุ่มสิ่งแวดล้อมใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลดังนี้ 1.ป่าไม้ถูกทำลาย ไปแล้วเกือบ 3 หมื่นไร่ ในสุราเวสีใต้ และในเกาะมาลูกูเหนือ (Maluku Utara) ทำให้น้ำดื่มและน้ำใช้ ถูกทำลายจากการทำเหมืองนิเกล และป่าถูกทำลายไป 1 แสนไร่ ส่งผลให้ในทุกๆ ปี ป่าไม้ถูกบุกรุกปีละ 6 พันไร่

2.ความขัดแย้งกับประชาชน ในสุราเวสีตะวันออกเฉียงใต้ (Sulawesi Tengara) มีประชาชนประท้วงบริษัท PT Vale Indonesia บริษัทเก่าแก่สมัยอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ที่ทำเหมืองแร่ 3.ผลกระทบต่อสุขภาพ คนในพื้นที่ป่วยเป็นโรคทางเดินอาหาร และระบบหายใจ มากกว่า 5 หมื่นคน

4.วิถีชีวิตเปลี่ยน คนสุราเวสีถูกเปลี่ยนทั้งอาชีพ ที่ดิน บ้านเรือน ไม่มีงานทำ (เพราะไม่มีฝีมือ) แรงงานส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน และ 5. คะแนน ESG Score ต่ำ เหมืองแร่อินโดนีเซีนได้เกรด BBB (QUARTERLY ACTIVITIES REPORT For the quarter ended 30 September 2023) ในขณะที่คะแนน MSCI ESG ของ Tesla ได้เกรด A เป็นเกรดเฉลี่ยซึ่งต่ำกว่า 2 เกรดสูงสุดคือ AA และ AAA

6.ไม่มี FTA กับสหรัฐฯ ประเทศอาเซียนที่มี FTA กับสหรัฐฯ ขณะนี้คือ สิงคโปร์ แต่ไม่มีแร่ การผลิตแบตเตอรี่จากประเทศที่สหรัฐฯ มี FTA เช่น นำแร่จากออสเตรเลีย  (มีครบทุกแร่เพื่อทำแบตเตอรี่) แคนาคา (โคบอล แกรไฟ) และญี่ปุ่น ชิลี (โคบอล) และเม็กซิโก (แกรไฟต)

จะเห็นได้ว่าการสร้างโรงงาน Tesla ในอินโดนีเซีย “ไม่แน่นอนสูงมาก” ส้มอาจจะไปหล่นที่ไทยและมาเลเซียในบางห่วงโซ่การผลิตก็เป็นไปได้