เมื่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ “เกาไม่ถูกที่คัน”

05 มิ.ย. 2567 | 07:00 น.
อัพเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 07:11 น.

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

ปี 2565 โลกมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จำนวน 57.4 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้นจากปี 2533 ที่มีปริมาณเท่ากับ 37.9 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นในทุก ๆ ปี ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ

แหล่งที่มาของ GHG มาจากการใช้ฟอสซิลเพื่อไปผลิตพลังงาน (หลัก ๆ มาจาก ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นํ้ามัน) ที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 52% มาจากมีเทน (CH4) เกิดจากการทำภาคเกษตรกรรม 22% มาจากไนตรัสออกไซด์ (N2O) 8% จากกิจกรรมการใช้ที่ดินสัดส่วน 15% (LULUCF) ที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ และที่เหลือเป็นฟลูโอริเนต(fluorinated gases หรือ F-gases) ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม (Emission Gap Report 2023) แม้ว่า CH4 กับ N2O จะปล่อยน้อยกว่า CO2 ก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (ตอนนี้เป็นโลกเดือด) มากกว่า CO2 หลายเท่าตัว CH4 ทำให้เกิด GHG 25 เท่า และ N2O 300 เท่า

เมื่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ “เกาไม่ถูกที่คัน”

ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายอากาศสะอาด ที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ...” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน กลิ่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสร้างความเสียหายต่อประชาชน โดยแบ่งที่มามลพิษ 6 แห่งคือ อุตสาหกรรม การเผา ก่อสร้าง ยานพาหนะ มลพิษทางอากาศที่อยู่นอกประเทศไทย และแหล่งมลพิษอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อคิดเห็นสำหรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ดังต่อไปนี้ 1.ดีต่อประชาชนไม่ดีต่อภาคการผลิต พ.ร.บ.นี้จะส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตของประชาชนไทยที่ไม่ต้องกังวลจากมลพิษที่จะเกิดขึ้น แต่สำหรับภาคการผลิตแล้ว ไม่มีแนวทางในการปรับตัวเพื่อลดการปล่อย GHG เพราะ GHG ที่ปล่อยออกมาก็กระทบต่อสุขภาพกายและจิตของประชาชนเช่นกัน แต่การบังคับใช้ พ.ร.บ.ก็เป็นเรื่องสำคัญ

2.คำจำกัดความ “มลพิษ” ที่ไม่ตรงกัน ตลอด พ.ร.บ.อากาศสะอาศฯ ให้ความสำคัญกับคำว่า “มลพิษ” ซึ่งหมายถึงมลพิษที่มาจาก ฝุ่น ควันและกลิ่นเป็นหลัก แต่ไม่ได้พูดถึงการปล่อย “GHG” ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและทุกภาคส่วนกำลังได้รับผลกระทบ

3.กลับหัวกลับหาง ประเทศไทยเริ่มต้นจากคำว่า “มลพิษ” หากประเทศไทยเริ่มต้นจากคำว่า “แหล่งที่มา GHG” ก็จะครอบคลุมการลดมลพิษไปในตัว และที่สำคัญทำให้ภาคผลิตมีทิศทางในการปรับตัวเพื่อลด GHG อย่างชัดเจน

4.ขาดภาคเกษตรกรรม ในจำนวนแหล่งที่มามลพิษทั้งหมด 6 แห่งนั้น ภาคเกษตรเป็นภาคที่มีการปล่อยมลพิษทั้งในรูปคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน โดยเฉพาะการปลูกข้าวและปศุสัตว์มากที่สุด ซึ่งการกำหนดการเผาใน พ.ร.บ. นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การเผาเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษเพียง 3.7% เท่านั้น

5.เพิ่มต้นทุนให้กับ SMEs ลดศักยภาพการแข่งขัน ภาคการผลิตจากแหล่งที่มาของมลพิษ จะถูกลงโทษโดยการปรับหากปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นต้นทุน ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดมลพิษที่เกิดขึ้น ต้นทุนในข้อนี้จะเป็นภาระของผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs มาก ที่ยังขาดแคลนเงินทุนในการทำธุรกิจ

6.ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายลด GHG ไทยมีพันธะสัญญากับ UNFCCC ที่ต้องลดคาร์บอนสุทธิและ GHG สุทธิ เป็นศูนย์ในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ แต่พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ช่วยแผนดังกล่าว เพราะขาดการระบุตัวเลขที่สอดคล้องกับแผนการลด GHG ของประเทศ