แรงงาน “เมียนมา”ทะลักไทย : ปัญหาหรือโอกาส

23 มิ.ย. 2567 | 05:49 น.

ไทยพึ่งแรงงานต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามความจำเป็นในแต่ละกิจกรรมเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า “แรงงานต่างด้าว (Labor Alien)” .ซึ่งหมายถึงแรงงานต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่เฉพาะแรงงานจากประเทศ CLMV

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

“วิวัฒนาการแรงงานต่างด้าวจากอดีตถึงปัจจุบัน” ในไทยคือ 1.จำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2.ตัวเลขเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่มี 3.อาชกรรรมและปัญหาเพิ่มขึ้น 4.จำนวนเด็กต่างด้าวเพิ่มขึ้น และ 5.มีการแก้ไขกฎหมายตามมาตราต่าง ๆ  โดยจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยทั้งทางการและไม่ทางการมีจำนวนเท่าไรนั้น ไม่มีใครรู้ (มีเฉพาะตัวเลขทางการที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรัฐฯ)

จำนวนแรงงานต่างด้าวทางการมีการแยกตามประเภทการขออนุญาตตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2561 จำนวนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ณ เดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 3.3 ล้านคน  เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ที่ 8 แสนคน เฉลี่ยเพิ่มขี้นปีละ 1.5 แสนคน (ถูกต้องตาม กม. 2 แสนคน เป็นญี่ปุ่น จีน อังกฤษ  และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 6 แสนคน เป็นเมียนมากับกัมพูชา)

แต่จากการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พบว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในไทย “ประมาณ 7 ล้านคน” ทั่วประเทศ (อีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าอยู่ที่ 9-10 ล้านคน) โดยเป็นแรงงานจากประเทศ CLMV จำนวน 3.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน  97% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

ในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานเมียนมา 75% (ทางการ 2.4 ล้านคน) ตามด้วย กัมพูชา 5 แสนคน และลาว 2.7 แสนคน การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวได้สร้างปัญหาในหลากหลายมิติ

แรงงาน “เมียนมา”ทะลักไทย : ปัญหาหรือโอกาส

จากงานวิจัยหลายฉบับและหลายพื้นที่ศึกษาพบว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยก่อให้เกิดอาชญากรรม ตั้งเป็นกลุ่มแก๊งต่าง ๆ สร้างอิทธิพลในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวเอง ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การลักขโมย การทะเลาะวิวาท การเสพและการค้ายาเสพติด (รูปแบบการก่ออาชญากรรมของแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม, ม.เชียงใหม่ 2560)

ในขณะที่งานศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าคนไทยกังวลแรงงานต่างด้าวในประเด็น ลักเล็กขโมย ชิงทรัพย์ และปล้น แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม ตามด้วยก่อสร้าง ในขณะที่แรงงานต่างด้าวก็มาจากเด็กที่เข้ามาเรียนเช่นกัน จำนวนเด็กต่างด้าวจาก CLMV ที่เข้ามารียนในประเทศไทย พบว่ามีการเพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 2566 เด็กนักเรียนต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียน 6 หมื่นคน (เมียนมา 60% กัมพูชา 26% ที่เหลือเป็น ลาว)  เป็นเด็กจากเมียนมามากสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5 พันคน “ตัวเลขทั้งหมด ปี 2567 น่าจะ 1 แสนคน”

เด็กนักเรียนเมียนมาที่เข้ามาเรียนในไทยมี 3 รูปแบบ (กรณีจังหวัดตาก) คือ 1.เข้ามาเรียนจากสถานการณ์ความไม่สงบ เรียนที่โรงเรียนคริสต์ 2.เข้ามาเรียนโรงเรียนของ NGOs และ 3.โรงเรียนไทย เด็กเหล่านี้จะกลับเข้ามาตลาดแรงงานในไทย หากไทยไม่มีตัวเลขทั้งแรงงานและเด็กจะสร้างปัญหาให้กับไทยในอนาคต

ดังนั้น 1.ไทยต้องเปลี่ยนจากปัญหาเป็นการสร้างโอกาสของประเทศภายใต้กรอบกติกาที่ถูกต้องเหมือนในยุโรป เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยถาวรหรือชั่วคราว ตามเหตุผลและความจำเป็นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและมีเงื่อนไข รวมถึงรายได้จากการเก็บภาษีจากแรงงานเหล่านี้  มีระยะเวลากำหนดเหมือนในยุโรปที่เรียกว่า “Blue Card” ที่มีการระบุสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรม IT สถาบันการศึกษา และหมอ เป็นต้น มีการต่ออายุทุก 5 ปี

2.การพัฒนาทักษะแรงงานเหล่านี้ เข้าสู่ภาคการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าให้กับประเทศตามระดับความสามารถ ซึ่งการจะไปถึงวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อ สิ่งที่ต้องทำคือระบบฐานข้อมูลคนเมียนมาในไทยอย่างสมบูรณ์ก่อน