ธุรกิจครอบครัวช่วยขับเคลื่อน การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียอย่างไร

17 ส.ค. 2567 | 22:43 น.

ธุรกิจครอบครัวช่วยขับเคลื่อน การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียอย่างไร : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจครอบครัวถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเอเชีย ด้วยสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แสดงถึงจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการและความมุ่งมั่นในค่านิยมของครอบครัวในภูมิภาคนี้ ซึ่งข้อได้เปรียบสำคัญของธุรกิจครอบครัวคือความมุ่งมั่นและทุ่มเทของสมาชิกในครอบครัว ที่มักยอมเสียสละเวลาและความพยายามมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพราะรู้ดีว่าการตัดสินใจทุกครั้งจะส่งผลต่อครอบครัวโดยตรง

ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวในเอเชียจำนวนมากกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับการถ่ายโอนกิจการระหว่างรุ่นจึงมีความสำคัญยิ่ง รวมถึงการบ่มเพาะทายาทและขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยพบว่าแนวโน้มสำคัญที่จะกำหนดทิศทางธุรกิจและขับเคลื่อนไปสู่การเติบโตในระดับโลกในด้านต่างๆมีดังต่อไปนี้

แนวโน้ม (Trends) ธุรกิจครอบครัวในเอเชียกำลังเผชิญทั้งความท้าทายและโอกาสมากมาย การวางแผนสืบทอดกิจการมีความสำคัญมากขึ้น หลายธุรกิจกำลังสร้างโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นทางการเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมทั้งพัฒนาทักษะของผู้นำรุ่นใหม่ไปด้วย โดยบางครอบครัวให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้รับประสบการณ์ระดับโลกและริเริ่มโครงการใหม่ๆ ขณะที่การลงทุนในทุนส่วนบุคคล (Private equity) กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น

เนื่องจากธุรกิจครอบครัวต้องการเสริมสภาพคล่องและสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากยังเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยยอมรับมาตรการ ESG เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงองค์กรและเป็นแนวทางสำคัญสำหรับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย โดยรวมแล้วธุรกิจครอบครัวในเอเชียกำลังเผชิญกับอนาคตที่ท้าทายแต่น่าตื่นเต้น และธุรกิจที่สามารถปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จะมีโอกาสสูงในการประสบความสำเร็จและสามารถแข่งขันได้ดีในตลาด

ธุรกิจครอบครัวช่วยขับเคลื่อน การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียอย่างไร

นวัตกรรมกับธุรกิจครอบครัว (Innovation Paradox) ธุรกิจครอบครัวมักใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ของครอบครัว นอกจากนี้ยังมักกล้าเสี่ยงน้อยกว่าและมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการเพิ่มกำไรสูงสุด เนื่องจากมีโครงสร้างเงินทุนแบบอนุรักษ์นิยม

การมุ่งเน้นความมั่งคั่งของครอบครัว และความต้องการปกป้องความมั่นคงและความสุขของครอบครัวเป็นสำคัญ อาจดูแปลกที่ธุรกิจครอบครัวซึ่งผู้ก่อตั้งมักมีความกล้าเสี่ยงสูง กลับมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ของครอบครัว

เนื่องจากทายาทให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพย์สินมากกว่าการเสี่ยง และแม้จะใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่าธุรกิจทั่วไป แต่การศึกษาพบว่าธุรกิจครอบครัวมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรมากกว่า และการสามารถแปลงทรัพยากรและความพยายามที่ลงทุนไปในนวัตกรรมให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่มีคุณค่าและประโยชน์ได้มากกว่า

นอกจากนี้ยังรักษาพนักงานรวมถึงผู้บริหารระดับสูงไว้ได้นานกว่าซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจได้อย่างมาก โดยรวมแล้วแม้ว่าธุรกิจครอบครัวอาจดูเหมือนจะมีความกล้าเสี่ยงน้อยกว่าธุรกิจทั่วไป แต่แนวทางการกำกับดูแลและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ช่วยให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า

การเติบโตและความยั่งยืน (Growth and Sustainability) การวางแผนสืบทอดกิจการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งต่อธุรกิจครอบครัวไปสู่รุ่นต่อไปอย่างราบรื่น โดยแผนที่ดีควรระบุวิธีการส่งมอบความรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของและการบริหารจัดการ

รวมถึงแนวทางในการแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทายาทสำหรับบทบาทผู้นำ ดังนั้นการลงทุนในการศึกษาและพัฒนาทายาทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอาจรวมถึงการฝึกงาน โอกาสในการทำงาน และโปรแกรมฝึกอบรมอีกด้วย

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่านวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจทุกประเภท และธุรกิจครอบครัวต้องส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการแข่งขัน อีกทั้งธุรกิจครอบครัวยังมักขาดประสบการณ์ในด้านการเงิน การปฏิบัติตามกฎหมาย และการกำกับดูแลกิจการ

ดังนั้นการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยสร้างโครงสร้างที่ยั่งยืนได้ นอกจากนี้การลงทุนในต่างประเทศยังทำให้ธุรกิจครอบครัวในเอเชียเผชิญกับความท้าทายจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม กฎระเบียบ และการแข่งขัน จึงอาจจำเป็นต้องปรับใช้โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่แข็งแกร่งขึ้น และให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมภายในองค์กรมากขึ้น

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นอาจต้องเปลี่ยนไปใช้โครงสร้างการจัดการแบบมืออาชีพเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เอเชียเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่หลากหลาย เมื่อเทียบกับธุรกิจครอบครัวในตะวันตกแล้วธุรกิจครอบครัวในเอเชียส่วนใหญ่มีอายุกิจการน้อยกว่า

โดยธุรกิจจำนวนมากอยู่ในยุคของผู้นำรุ่นที่สองหรือสาม และกำลังเผชิญหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านผู้นำ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้ทั้งธุรกิจและสายสัมพันธ์ในครอบครัวเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้

 

ที่มา: Frank-Jurgen Richter.  November 24, 2023.  Family-owned Businesses: Propelling Asia’s Growth.  Available: https://horasis.org/family-owned-businesses-propelling-asias-growth/ข้อมูล: http://www.famz.co.th