ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย คลังฟันธงทางออกดีสุด

13 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯ ไทย คลังฟันธงทางออกดีสุด : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4009 ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ค. 2567

สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยซบเซาอย่างหนัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ่อนแอ และนำไปสู่การชะลอตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ฉุดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต้องล้มลุกคลุกคลาน ตามไปด้วย 

ที่น่ากังวล และ เป็นกับดักการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศ นั่นคือ หนี้ครัวเรือนที่สูงต่อเนื่อง มีผลต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง และการขอสินเชื่อสถาบันการเงินยากขึ้น

 

สวนทางสต๊อกที่อยู่อาศัยสะสมเข้ามา และหากระบายไม่ทัน นานวันเข้า ผู้ประกอบการ ต้องควักกระเป๋า เป็นค่าปรับปรุงความเสื่อม สวนทางดอกเบี้ยที่ต้องแบก ขณะพฤติกรรมผู้บริโภคมักมองหาบ้านใหม่มีหนทางเดียวต้องตัดขายในราคาถูก เพื่อมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้ามา

 ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งด่วน พร้อมเปิดแผนฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ขับเคลื่อนต่อได้ ท่ามกลางคลื่นลมแรงความท้าทายทางเศรษฐกิจ  

สิ่งหนึ่งที่ ขุนคลัง ที่ชื่อ “พิชัย ชุณหวชิร” มั่นใจว่าจะช่วยผยุงตลาดนี้ให้ฟื้นตัวได้ คือ กำลังซื้อต่างชาติ 

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแผนดึงชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยพิจารณาขยายระยะเวลาเช่าเป็น 99 ปี ร่วมกับการใช้กฎหมาย “ทรัพย์อิงสิทธิ์” ให้สิทธิใช้ที่ดินแก่ ชาวต่างชาติ โดยคนไทยยังคงมีกรรมสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคาและโซน การเพิ่มภาษีค่าโอน และข้อห้ามในการทำเกษตรกรรม

ทั้งนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการจดทะเบียนของชาวต่างชาติ ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใต้ดิน ให้ขึ้นมาบนดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน 

นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดจาก 49% เป็น 75% แต่กำหนดโซนให้อยู่ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่เป็นทำเลที่ต่างชาตินิยม 

ขณะเดียวกันยัง ช่วยเหลือกำลังซื้อไทยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยผลักดันให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขยายระยะเวลาการกู้ถึงอายุ 80-85 ปี เพื่อลดภาระการผ่อนชำระรายเดือน โดยหวังเป็นต้นแบบให้ธนาคารพาณิชย์เป็นแนวทางนี้ในการปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ LTV (Loan-to-Value) 

โดยมองว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีความแข็งแกร่งทางการเงิน และมีการตั้งสำรองหนี้เป็นศูนย์ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทยในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ขณะดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่มีการปรับลดลง มองว่า จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนลงได้ จากการไม่กล้าก่อหนี้เพิ่ม แต่ประเมินว่าปลายปีนี้น่าจะเห็นการปรับลดลงของดอกเบี้ย เพื่อคลายความตึงเครียด

แต่สิ่งที่จะตามมา คือ การก่อหนี้ใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องจับตาและเชื่อว่าทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเอาอยู่!!!