วันที่ 4 ก.ค.2567 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสด แทน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย เรื่องมาตรการช่วยอสังหาริมทรัพย์ ระบายสต๊อก และการให้ต่างชาติถือครองคอนโดมิเนียม จาก 49% เป็น 75% และ พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ที่จะขยายเวลาเช่าที่ดินเป็น 99 ปีจาก 30 ปี ว่า ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ไปศึกษาผลได้ ผลเสีย ผลกระทบในเรื่องดังกล่าว ตามมติของ ครม. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ตายตัวไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ในบางช่วง เราอาจจะไม่ต้องการเงินทุนจากต่างชาติ แต่ในสภาพเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง เราอาจต้องการเงินทุนจากต่างชาติ
นายชาดา กล่าวว่า ปัญหาคือการที่เราจะให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ต้องดูว่าเป็นแหล่งเงินทุนของต่างชาติ และต่างชาติไม่ได้มาครอบครอง แล้วยึดไปหมด หรือไปทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ทำไม่ได้ เราคนไทย เรากลัวกฎหมายแบบนี้ เพราะกลัวว่าคนต่างชาติจะเข้ามาครอบงําประเทศไทย จะมาเป็นเจ้าของที่ดินจํานวนมาก
แต่เราต้องยอมรับว่า ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องปรับปรุงเรื่องข้อกฎหมาย และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาผลได้ ผลเสีย ผลกระทบ บวกอย่างไร ลบอย่างไร ก่อน ยังไม่ได้ให้แก้กฎหมายเลย ขณะนี้กรมที่ดินก็กำลังดําเนินการเรื่องนี้อยู่อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
“กระทรวงมหาดไทย กําลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ แต่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ เพราะเพิ่งดำเนินการได้ 10 กว่าวัน แล้วต้องศึกษา ในแง่ของเศรษฐกิจ ในแง่ของกฎหมายหลายอย่าง ผมยังคุยกับทางกรมที่ดินว่า มันต้องชัดเจน เพราะจะออกเป็นนโยบาย หรือจะแก้กฎหมาย มันต้องชัดเจน บอกได้ว่าเหตุผลอะไรดีอย่างไร ถึงจะให้เขาเพิ่มมาเป็น 75% ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ แล้วต้องไปศึกษาถึงขั้นขนาดว่า เขาจะครอบครองประเภทไหนมากกว่า ในการจะครอบครองจะเป็นแบบไหน อันนี้มันรายละเอียดเยอะ ไม่ใช่น้อยๆ นายกรัฐมนตรี เร่งอยู่ว่าให้รีบดําเนินการ”
นายชาดา กล่าวว่า เรื่อง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ์ ที่จะขยายสิทธิ์เป็น 99 ปี นั้นเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ซับซ้อนพอสมควร นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทำการศึกษา ทางกรมที่ดินก็กําลังศึกษาอยู่เช่นกัน ส่วนที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการ หรือสั่งการให้ไปศึกษาผลกระทบ
พร้อมยืนยันว่า การแก้กฎหมาย นายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานต้องไปศึกษาผลดี ผลเสีย อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าสั่ง แล้วแก้กฎหมายปั๊บ เพราะการแก้ไขกฎหมายต้องเข้ามาสู่รัฐสภา จะต้องเป็นผู้ที่จะลงมติ มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ การแก้กฎหมายต้องศึกษา ท่านนายกจะสั่ง บอกให้มาแก้กฎหมาย แล้วแก้เลย โดยที่ไม่ดูผลได้ ผลเสีย เมื่อเอาเข้าสภาผู้แทนราษฎรจะโดนหนักเลย
นายชาดา กล่าวว่า อยากให้มองเรื่องของธุรกิจ กับการที่ต่างชาติมาได้ผลประโยชน์ เราเป็นคนไทยไม่อยากให้ใครมาถือแผ่นดินเรา ไม่อยากให้ใครมาครอบครองแผ่นดินของเรา แน่นอนในความเป็นคนไทยทุกคนมีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ในบางเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจและเป็นกลุ่มไม่ได้ใหญ่มากนัก ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกันดู แล้วต้องมาวิเคราะห์
ตนเองคงไม่ยอมให้ชาติไหนมาครอบครองประเทศไทย แล้วเดินกร่างไปทั่ว โดยที่คนไทยไม่มีสิทธิ์เข้าไป มันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องมาศึกษาในแง่ของเศรษฐกิจ ว่าในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้เราจะทําอย่างไร แล้ววันนี้โลกาภิวัฒน์ วันนี้การเคลื่อนที่ของกลุ่มทุนนั้นมาไวไปไว ทุกคนก็หาประโยชน์จากเงินทุนของต่างชาติ
"เรื่องของเศรษฐกิจมันต้องทํา แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปยกที่ดินให้ใคร ผมก็คงไม่ยอม ใครก็คงสั่งผมไม่ได้ แต่มันต้องเอามาดู เพราะว่าหลังท่านบอกว่าให้ไปแก้กฎหมาย คือหมายถึงมันมีหลายเรื่อง อย่างที่ตอนนี้เราจะแก้กันเรื่อง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เรื่องนิติบุคคล อะไรมากมาย
ผมบอกว่าให้ศึกษา เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่เรื่องของการขายชาติ ต้องเข้าใจตรงนี้ เราคงไม่ยอมแน่ แล้วต้องหาเหตุผลที่ดีว่ามันเหมาะสมกับเวลา แล้วมันสมควร ต้องมาว่ากันอีกที ผมเชื่อว่าถ้าเกิดมันเป็นผลเสียจํานวนมากเสนอท่านนายกฯ ท่านคงไม่ฝืนหรอก ผมเชื่อว่าอย่างงั้น ตอนนี้มันเป็นเพียงคําสั่งที่ให้ไปแก้กฎหมาย ว่าจะต้องทําอะไร ยังไง แค่นั้น สบายใจได้ในเรื่องนี้”นายชาดา กล่าว