สร้างสมดุลกระตุ้นบริโภค-ลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 67

18 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

สร้างสมดุลกระตุ้นบริโภค-ลงทุนฟื้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 67 : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4010

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นถึงภาพที่ผสมผสานระหว่างการเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และความท้าทาย สะท้อนผ่านดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายประการ

แม้ว่าหนึ่งในแสงสว่างปลายอุโมงค์ของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคบริการ ที่แสดงสัญญาณการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการใช้จ่ายภาคบริการมีอัตราการเติบโตเป็นบวกทุกเดือน ตั้งแต่ 5.9% ถึง 8.6% สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขนส่ง อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค โควิด-19 

ในขณะที่การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทน เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก ก็เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวเหลือ 1.6% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ขณะที่การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน เช่น ยอดค้าปลีก สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และ ปริมาณการนําเข้าสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ก็อยู่ในระดับตํ่าและมีความผันผวน ตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ติดลบ 0.6% 

ส่วนการใช้จ่ายสินค้าคงทน ซึ่งเป็นข้อมูลดัชนีการจําหน่ายยานยนต์ ประกอบด้วยปริมาณการจําหน่ายรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ก็หดตัวอย่างหนัก ติดลบ 9.8% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนยานยนต์ เพื่อการลงทุนในประเทศ ไม่รวมยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ในเดือนพฤษภาคม ที่ติดลบหนักถึง 23.6% สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะในสินค้าที่มีมูลค่าสูง 

ที่สำคัญ ตัวเลขการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ก็ติดลบอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการลงทุนในภาคธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการระมัดระวังในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการ

สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย (SCB EIC Real estate survey 2024) ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่พบว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาระค่าใช้จ่ายที่ยังทรงตัวในระดับสูง ยังกดดันต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย 

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความต้องการซื้อในช่วงไม่เกิน 2 ปี ข้างหน้า มีสัดส่วนลดลงจากการสำรวจปีก่อนหน้า และความต้องการซื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่คาดหวังว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ และกำลังซื้อจะฟื้นตัวมากขึ้น

ต้องยอมว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าภาคบริการจะแสดงสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ทั้งการชะลอตัวของการบริโภคสินค้าคงทน การลงทุนที่หดตัว และ แรงกดดันด้านราคาที่เริ่มปรากฏ

การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป อาจต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ และการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างสมดุล จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567