ฟื้นศรัทธา-สร้างความเชื่อมั่น อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง

21 ส.ค. 2567 | 05:27 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2567 | 05:38 น.

ฟื้นศรัทธา-สร้างความเชื่อมั่น อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4020 ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. 2567

การเมืองไทยพลิกผันชั่วข้ามคืน 14 สิงหาคม 2567 “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ถัดมา 16 สิงหาคม สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของไทย ด้วยวัย 37 ปี เป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของไทย และเป็นนายกฯ คนที่ 3 จากตระกูล “ชินวัตร”

วันรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี (18 ส.ค.) “แพทองธาร” ประกาศความตอนหนึ่ง จะนำพาประเทศไทยเดินหน้าฝ่าฟันทุกอุปสรรค แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาปากท้อง ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และจะทำให้ไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส เป็นประเทศแห่งความหวัง และเป็นประเทศแห่งความสุขของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม

ฉากทัศน์ ณ ปัจจุบัน พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่ และจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในลำดับถัดไป

ทุกภาคส่วนใจจดใจจ่อรอยลโฉม ครม.ชุดใหม่ หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร จะ “ว้าว” หรือ “ว้า” คงได้เห็นในอึดใจ แต่เวลานี้ที่คนไทยสนใจมากกว่าหน้าตา ครม. และตั้งคำถามกันอื้ออึงทั่วประเทศคือ เงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท รัฐบาลใหม่จะยังเดินหน้าต่อหรือไม่ หากยังเดินหน้าต่อจะได้เมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง ยังแบ่งรับแบ่งสู้ตอบได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่า จะเดินหน้าต่อ หรือ พอแค่นี้ หากยังเดินหน้าต่อจะปรับปรุงหลักเกณฑ์จ่ายเป็นเงินสดแทนได้หรือไม่

ส่วนซีกเกษตรกรตั้งคำถาม โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” จะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรทำนาไปหมดแล้ว จะปรับเปลี่ยนเป็นจ่ายเงินสดไร่ละพันเหมือนที่ผ่านมาได้หรือไม่

ขณะที่ยังมีปัญหาหมักหมมฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย และรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไข ทั้งปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนสูง รายได้ไม่พอรายจ่าย โรงงานผลิตสินค้าเอสเอ็มอีไทยถูกสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เข้ามาถล่มตลาดในทุกช่องทาง กระทบต้องปิดตัวรายวัน ครึ่งปีแรกปิดไปแล้ว 667 โรง

ขณะที่ต่างชาติเฉพาะอย่างยิ่งจากค่ายยุโรป อเมริกา ยังชะลอการลงทุน จากขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย ที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายขาดความต่อเนื่อง

สะท้อนจากข้อมูลของสภาพัฒน์ที่ออกมาเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาสที่ 2/67 แม้จะทำให้พอใจชื้นได้บ้าง โดยจีดีพีขยายตัวที่ 2.3% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.5% แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียน จีดีพีไทยไตรมาสที่ 2 ยังขยายตัวอยู่อันดับรั้งท้าย ๆ โดยตัวเลขที่ยังติดลบ คือ การลงทุนเอกชน และการลงทุนภาครัฐ สะท้อนความเชื่อมั่น และการเบิกจ่ายงบปี 2567 ที่ยังล่าช้า

คำถามต่อเนื่องนับจากนี้ ที่นายกฯ คนใหม่ ประกาศเสียงดังฟังชัด จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จะมีมาตรการอะไรบ้าง และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมที่เหลืออีก 3 ปี โดยไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองทำให้ต้องสะดุดอีก

แต่วินาทีนี้ทุกฝ่ายคาดหวังสูงต่อนายกรัฐมนตรี และว่าที่ครม.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างสุดความสามารถ โดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง และสามารถลบคำสบประมาทต่างๆ ได้ในที่สุด