เงินดิจิทัล-รถไฟฟ้า 20 บาท โปรเจ็กต์ฟื้นศรัทธารัฐบาล

11 ก.ย. 2567 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2567 | 05:00 น.

เงินดิจิทัล-รถไฟฟ้า 20 บาท โปรเจ็กต์ฟื้นศรัทธารัฐบาล : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567

การจัดตั้งรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า นำมาซึ่งความเชื่อมั่น สะท้อนจากดัชนีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปอย่างคึกคัก ปิดแดนบวกตัวเขียวต่อเนื่อง

ตามไทม์ไลน์วันที่ 12-13 กันยายน 2567 รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเปิดให้พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้แสดงความคิดเห็นและซักถามในรายละเอียด ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องตอบให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่านโยบายต่าง ๆ จะเดินหน้าอย่างไร หวังสัมฤทธิผลอย่างไร

 

สำหรับนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาที่เผยแพร่ผ่านสื่อไปแล้ว นโยบายในภาพรวมยังคล้ายกับรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ แต่ได้เพิ่มเติมในรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยนโยบายเรือธงยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินประชาชน 45 ล้านคน วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ล่าสุดโครงการเริ่มมีความชัดเจน โดยกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ กลุ่มคนพิการรวม 14.5 ล้านคน จะได้รับเป็นเงินสดคนละ 1 หมื่นบาท ที่จะโอนเข้าบัญชีผ่านธนาคารกรุงไทย หลังวันที่ 20 กันยายนนี้ ซึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคได้อย่างหลากหลายไม่จำกัดร้านค้าและพื้นที่

ส่วนคนทั่วไปจะจ่ายเมื่อไรนั้น ยังไม่ได้กำหนดระยะวลาที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นตั้งเป้าจะแจก 2 รอบ งวดแรกคนละ 5,000 บาท ที่อาจจะจ่ายเป็นเงินสดหากระบบดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และงวดที่ 2 จะจ่ายเพิ่มอีกคนละ 5,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หากระบบเสร็จสมบูรณ์

นโยบายต่อมาที่ประชาชนคนเมืองกรุงตั้งตารอคอยคือ “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสีทุกสาย ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศจะผลักดันให้สำเร็จภายในเดือนกันยายน 2568

ทั้งสองนโยบายดังกล่าวหากสามารถทำได้จริงตามระยะเวลาที่กำหนดจะช่วยฟื้นศรัทธา และสร้างคุณูปการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ และลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในยุคค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนสูง

ขณะที่ยังมีนโยบายใหม่ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่ได้แถลงเป็นนโยบาย แต่ได้เพิ่มเติมเข้ามาในระหว่างทางคือ สถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน และดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศ

ส่วนนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง และระยะยาว และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ

ดูจากนโยบายแล้วถือว่ามาเต็ม และสอดคล้องกับเทรนด์โลก ทั้งการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การขับเคลื่อนพลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ ศูนย์กลางทางการเงินโลก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ดีเหล่านี้ยังขาดในรายละเอียดที่รัฐบาลต้องชี้แจงต่อรัฐสภาและประชาชนว่า มีแผนปฏิบัติการ หรือ แอ็คชั่นแพลนอย่างไร งบประมาณจากไหน ตั้งเป้าหมาย หรือ ดัชนีชี้วัดผลสำเร็จ(KPI) อย่างไร

ทั้งนี้ถ้อยแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่นายกรัฐมนตรีเตรียมประกาศ “จะสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทยจากวันนี้ไปถึงอนาคต” ทุกคนยังรอฝันที่เป็นจริง