ผวา “สงครามเหล็ก” จีนผลิตสูงสุดรอบ 7 ปี อาเซียนแข่งผลิตเพิ่ม

06 ก.ค. 2566 | 01:41 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 01:57 น.

วิบากกรรมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยยังมีไม่จบสิ้น แม้จะมีบางช่วงราคาในตลาดดีดตัวดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น เทียบกับปัจจัยลบที่มีอยู่มาก ทั้งความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจเติบโตตํ่า การชะลอตัวของภาคการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน

 

ผวา “สงครามเหล็ก” จีนผลิตสูงสุดรอบ 7 ปี อาเซียนแข่งผลิตเพิ่ม

นอกจากนี้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากต่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง ภาพรวมตลอดปี2566 อุตสาหกรรมเหล็กไทยจะเป็นอย่างไร ฟังคำตอบจาก นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ไว้อย่างน่าสนใจ

  • ระดับวิกฤตใช้กำลังผลิตตํ่ากว่า 30%

ต่อคำถามภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กถึงจุดตํ่าสุดในรอบปีแล้วหรือยัง ทั้งในแง่ความต้องการของตลาด และราคา นายนาวา ฉายภาพว่า ราคาสินค้าเหล็กในประเทศกลางปี 2566 ได้ปรับลดลงจากช่วงไตรมาสแรกแล้วกว่า 10% จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตตํ่าของไทย การก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนชะลอตัว รวมถึงผลกระทบจากสินค้าเหล็กจากต่างประเทศทุ่มตลาด โดยช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 มีสินค้าเหล็กนำเข้าเพิ่มขึ้น 19% ขณะที่การผลิตเหล็กในประเทศมีปริมาณลดลง 10% ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยช่วงแรกของปี 2566 ตํ่ากว่า 30% ถือเป็นระดับวิกฤต

โดยโรงงานผลิตเหล็กทรงยาวในประเทศ ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย เหล็กลวด เหล็กเฮชบีม เหล็กไอบีม มีกำลังการผลิตทุกโรงงานรวม 14.6 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียง 33% เท่านั้น ส่วนเหล็กทรงแบน ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบต่างๆ มีกำลังการผลิตรวม 9.0 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียง 24% เท่านั้น เทียบกับภาพรวมทุกประเทศทั่วโลกมีกำลังการผลิตเหล็ก 2,463 ล้านตัน แต่มีการใช้กำลังการผลิตจริงเฉลี่ย 74.3% ถือเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ค่อนข้างตํ่า

นาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“หลายประเทศตั้งเป้าและมุ่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของตน มีการใช้กำลังการผลิตในอัตราที่มากกว่า 80% เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยซึ่งเหลือเพียง 24% ถึง 33% ถืออยู่ในระดับวิกฤตแล้ว ต้องเร่งหามาตรการทั้งระยะสั้น กลาง และยาวเพื่อให้มีการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อความอยู่รอดและมั่นคงของอุตสาหกรรม

เนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบจำเป็นของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีส่วนสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น หากอุตสาหกรรมเหล็กไม่สามารถอยู่ได้ ย่อมมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ”

  • 5 เดือนจีนส่งออกเหล็กพุ่ง 41%

นายนาวา กล่าวอีกว่า จีนเป็นประเทศผู้ทุ่มตลาดสินค้าเหล็กสูงสุดในโลก ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ จีนผลิตเหล็กดิบกว่า 440 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.1% ซึ่งเป็นการกลับมาผลิตเหล็กสูงสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในประเทศของจีนทรงตัว จึงมีการส่งออกมากถึง 36.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าเหล็กในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นเป้าส่งออกหลักของจีนราคาถดถอย ดังนั้นหากจีนยังคงการผลิตที่เพิ่มขึ้น การส่งออกเหล็กจากจีนน่าจะยังมากต่อเนื่อง

ผวา “สงครามเหล็ก” จีนผลิตสูงสุดรอบ 7 ปี อาเซียนแข่งผลิตเพิ่ม

  • ห่วงเหล็กล้นตลาดอาเซียน

ขณะเดียวกันสิ่งที่อุตสาหกรรมเหล็กห่วงคือ การผลิตเหล็กที่มากเกิน (โอเวอร์ซัพพลาย) เฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของโลกคือจีน ที่ผลิตเหล็ก 1,108 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 54% ของการผลิตเหล็กทั้งโลก และปัญหาโอเวอร์ซัพพลายนี้กำลังขยายลุกลามเกิดขึ้นในกลุ่มอาเซียน

จากข้อมูลสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งอาเซียน (SEAISI) ปัจจุบันกลุ่มอาเซียนมีกำลังการผลิตเหล็กรวม 75.3 ล้านตันต่อปี แต่มีโครงการสร้างโรงงานเหล็กเพิ่มเติมในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ 1.มาเลเซีย เพิ่มกำลังการผลิตจาก 17.5 ล้านตัน เป็น 52.8 ล้านตันต่อปี 2.อินโดนีเซีย เพิ่มจาก 24.9 ล้านตัน เป็น 46.7 ล้านตันต่อปี 3.เวียดนาม จาก 24.7 ล้านตัน เป็น 30.3 ล้านตันต่อปี และ 4.ฟิลิปปินส์ จาก 10.1 ล้านตัน เป็น 25.3 ล้านตันต่อปี (กราฟิกประกอบ)

 “ในปี 2569 กำลังการผลิตเหล็กรวมของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนคาดจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 151.9 ล้านตันต่อปี มากเกินความต้องการ จะนำมาซึ่งสงครามการค้าและการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กในภูมิภาคอาเซียนรุนแรงขึ้น หากประเทศใดละเลยไม่มีมาตรการป้องกัน จะเป็นเป้าหมายหลักที่ถูกทุ่มตลาดอย่างแน่นอน”

  • มองดีมานด์-ซัพพลายในประเทศ

สำหรับตลาดเหล็กในประเทศดีมานด์-ซัพพลายทั้งปีจะเป็นอย่างไร นั้นนายนาวา  กล่าวว่า  ประเทศไทยเคยมีสถิติความต้องการใช้เหล็กสูงสุดในปี 2559 มากถึง 19.28 ล้านตัน แต่หลังจากนั้นความต้องการใช้เหล็กก็ลดน้อยลง โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กรวม 16.39 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณต่ำสุดในรอบ 12 ปีหลังสุด โดยสามารถจำแนกการใช้เหล็กของประเทศไทยตามสัดส่วนได้ดังนี้

สัดส่วนตามแหล่งผลิตเหล็ก คือ เหล็กนำเข้า 68.5% โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี  เหล็กผลิตในประเทศไทย 31.5% สัดส่วนตามปริมาณที่ใช้งานในภาคต่างๆ คือ 1.ก่อสร้าง 57%  2.ยานยนต์ 22%  3.เครื่องใช้ไฟฟ้า 8% 4.เครื่องจักรกล 7% 5.บรรจุภัณฑ์ 6% และสัดส่วนตามประเภทเหล็กที่ใช้ คือ  เหล็กทรงแบน 62% และ เหล็กทรงยาว 38%

ผวา “สงครามเหล็ก” จีนผลิตสูงสุดรอบ 7 ปี อาเซียนแข่งผลิตเพิ่ม

คาดการณ์ว่าในปี 2566 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยจะปรับตัวดีกว่าปีก่อน จากทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานได้คลี่คลายลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าไฟฟ้าแพง และอัตราดอกเบี้ยที่สูง จะจำกัดการฟื้นตัวของความต้องการใช้เหล็ก และที่สำคัญขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะมีความราบรื่นทางการเมืองและทันการณ์เพียงใด และความสามารถของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐในครึ่งหลังของปีนี้

โดยความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยปี 2566 มีโอกาสเติบโตขึ้นระหว่าง 1.9% - 3.7% เป็น 16.7 - 17.0 ล้านตัน ในขณะที่โรงงานเหล็กในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตสำเร็จรูป (Finished Steel Products) รวม 13.8 ล้านตัน แต่จะใช้กำลังการผลิตจริงเพียง 4.7 – 5.0 ล้านตัน ในขณะที่อีก 12 ล้านตันจะเป็นสินค้าเหล็กนำเข้ามาแบ่งตลาด 

เทียบกับความต้องการใช้เหล็กปี 2566 ของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน คาดว่าจะมีการเติบโตแตกต่างกันไป ดังนี้ 1.เวียดนาม 22.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.9% 2.อินโดนีเซีย 17.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.8%  3.ฟิลิปปินส์ 10.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.9%  4.มาเลเซีย 7.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.0%  5. สิงคโปร์ 2.5 ล้านตัน ทรงตัว 0%

  • มั่นใจไตรมาส3 จะผ่านจุดต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคาสินค้าเหล็กในตลาดโลกจะผ่านจุดต่ำสุดภายในไตรมาส 3 แล้วปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ประกาศจะควบคุมลดปริมาณการผลิตเหล็กของจีนลงในครึ่งหลังของปี รวมถึงการลดการผลิตเหล็กในช่วงฤดูหนาวของจีน ที่เรียกกันว่า Winter-Cut เพื่อลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมด้วย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังดำเนินการอยู่ น่าจะเริ่มเห็นผลทำให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศจีนช่วงปลายปีกระเตื้องขึ้น

ดังนั้น ราคาสินค้าเหล็กในประเทศไทยไม่น่าจะเหวี่ยงตัวมากในไตรมาสที่ 3 และมีโอกาสขยับสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเชื่อว่าความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยในครึ่งปีหลังน่าจะมากกว่าครึ่งปีแรกจากการค่อย ๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลใหม่มีความมั่นคงทางการเมือง และสามารถขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ดี

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3902 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566