ยกเลิก AD ระวังอุตสาหกรรมเหล็กไทย “พังทั้งระบบ” คนตกงานอีกนับแสน

27 ก.พ. 2566 | 23:34 น.

เตือนไทยยกเลิก AD เหล็กจาก 5 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ระวังกระทบอุตสาหกรรมเหล็กไทยพังทั้งระบบ จากยังมีกำลังผลิตส่วนเกินกว่า 170 ล้านตันพร้อมทุ่มตลาด คนไทยจะตกงานอีกหลายแสนคน

ยกเลิก AD ระวังอุตสาหกรรมเหล็กไทย “พังทั้งระบบ” คนตกงานอีกนับแสน

บทความโดย : นายหัวอัทธ์

หากจำกันได้ สิ่งแรกที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทำเมื่อรับตำแหน่งคือ การเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากต่างประเทศในอัตรา 25% และ 10% “เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯเต็มสูบ”

โดยผ่านทางมาตรา 232 ของกฎหมายการค้า 1962 (Trade Expansion Act 1962) ที่ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ  ตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาที่มีผลต่อความมั่นคง แล้วให้ประธานาธิบดีออกเป็นนโยบายในการตอบโต้ทางการค้ากับทุกประเทศคู่ค้า  

ทั้งนี้ช่วงปี 2559 ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัคร นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หาเสียงว่า “เราจะผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมกลับไปเป็นกระดูกสันหลังของประเทศเรา (We are going to put American steel and aluminum back into the backbone of our country)”

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2565 องค์การการค้าโลก (WTO )ได้ตัดสินว่าการขึ้นภาษีเหล็กของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์นั้นเป็นการ “ละเมิดกฎองค์การการค้าโลก” แต่ประธานาธิบดีไบเดน ประณามคำตัดสินของ WTO ต่อกรณีดังกล่าว และจะไม่ยกเลิกคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ นั่นคือ “เดินหน้าปกป้องเหล็กสหรัฐฯ ต่อไป โดยไม่สนใจใคร”

จะว่าไปแล้ว ผู้นำของสหรัฐฯ ทุกยุคทุกสมัยที่ขึ้นมาบริหารประเทศจะปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กมาตลอดทำให้ศักยภาพการผลิตเหล็กสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 82% ในขณะที่จีนมีการใช้อัตรากำลังการผลิตประมาณ 79% หรือแม้แต่ประเทศในอาเซียน เวียดนาม มีการใช้กำลังการผลิตถึง 60% และอินโดนีเซียมีอัตราการใช้กำลังการผลิตไปถึง 70%

ยกเลิก AD ระวังอุตสาหกรรมเหล็กไทย “พังทั้งระบบ” คนตกงานอีกนับแสน

ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียง 30% (ต่ำสุดในรอบหลาย ๆ ปี)  (หลายคนอาจจะสงสัยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ต่อสินค้าเหล็ก แต่ทำไมอัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยยังต่ำ ก็เพราะประเทศผู้ส่งออกเหล็กเข้ามาในประเทศ “หลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD” ทำให้เหล็กจากต่างประเทศยังนำเข้ามาใประเทศไทยอยู่ดี)

ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้คือ ประเทศไทยกำลังพิจารณาว่า จะยุติการขยายเวลาการบังคับใช้ AD เหล็กรีดร้อนจาก 3 ประเทศ คือ บราซิล ตุรกี อิหร่าน และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 ประเทศคือ จีน และมาเลเซีย โดยทั้ง 5 ประเทศยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอีกกว่า 170 ล้านตัน และยังคงมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากการถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั่วโลก ผลดังกล่าวนอกจากจะกลับมาสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตในประเทศแล้ว ยังอาจจะสร้างความเสียหายให้กับใช้รายหลักของประเทศ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วย

ยกเลิก AD ระวังอุตสาหกรรมเหล็กไทย “พังทั้งระบบ” คนตกงานอีกนับแสน

อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเหล็กมีความจำเป็นต่อการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น เพราะฉะนั้นทิศทางของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงมีผลต่อความต้องการโดยตรงในการใช้เหล็กในประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กมากที่สุด ในปี 2564 คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีปริมาณการใช้เหล็กคิดเป็นร้อยละ 57 ของการใช้เหล็กภายในประเทศไทย หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้เหล็กภายในประเทศทั้งหมด

รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการใช้เหล็กคิดเป็นร้อยละ 22 ของการใช้เหล็กภายในประเทศ และลำดับถัดมา คือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กคิดเป็นร้อยละ 9 ร้อยละ 8 และร้อยละ 5 ของการใช้เหล็กภายในประเทศ ตามลำดับ

หากมีการยกเลิกมาตรการปกป้องเหล็กภายในประเทศจริง (ยกเลิก AD) จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบและมหาศาล ทั้งการผลิต  GDP และการจ้างงาน

ยกเลิก AD ระวังอุตสาหกรรมเหล็กไทย “พังทั้งระบบ” คนตกงานอีกนับแสน

จากผลการประเมินของผมโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การปกป้องเหล็กภายในประเทศ (โดยห้ามนำเข้าผ่านทางมาตรการ AD นั้น) มีผลต่อ GDP ถึง 3% แต่หากนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศอย่างเดียว GDP ไทยเพิ่มเพียง 1% เท่านั้น

ขณะเดียวกันการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึงใกล้ 1 ล้านคน ในขณะที่ปล่อยให้มีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศเกิดการจ้างงานเพียง  3 แสนคนเท่านั้น และหากปล่อยให้มีการนำเข้า โดยไม่ปกป้องเลย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำได้รับผลกระทบมากที่สุด เกือบ 40% ตามด้วยธุรกิจเชื้อเพลิง ไฟฟ้า เหมืองแร่ และค้าส่งค้าปลีก จะได้รับผลกระทบตามมา ซึ่งก็จะกระทบต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจดังกล่าวอีกหลายแสนคน ฝากประเทศช่วยพิจารณาข้อมูลและผลการวิเตราะห์ของผม และดูการปกป้องเหล็กของประเทศอาเซียนอื่น ๆ ประกอบด้วยครับ