T.K.S. รู้ทันโลกเปลี่ยน ปูพรม 2 พันล้าน ต่อยอดธุรกิจสิ่งพิมพ์

22 ก.ค. 2566 | 02:04 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 02:19 น.

บริษัท ที .เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือT.K.S. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ นับจากปีก่อตั้ง (2497) เป็นองค์กรที่มีอายุเกือบ 70 ปี

T.K.S. รู้ทันโลกเปลี่ยน ปูพรม 2 พันล้าน ต่อยอดธุรกิจสิ่งพิมพ์

จากอดีตสู่ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีความท้าทายสูงตามสถานการณ์โลก T.K.S.จะก้าวย่างอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ฟังมุมมองจาก นายจุติพันธุ์ มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เจเนอเรชั่นที่ 3 ของ T.K.S. เปิดใจผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจ

นายจุติพันธุ์ กล่าวว่า T.K.S. มีทั้งธุรกิจดั้งเดิม (สิ่งพิมพ์) ที่ยังเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรและกระแสเงินสดให้สามารถขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2564-2565) ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ T.K.S จากมีการลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และยังสร้างกลุ่มพันธมิตร และระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ เพราะเชื่อว่าธุรกิจสมัยใหม่ต้องร่วมมือกันมากขึ้น จากแต่ก่อนจะต่างคนต่างอยู่ หรือแข่งขันกันเอง

จุติพันธุ์ มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

มองไปข้างหน้าอีก 2-3 ปี กลุ่มธุรกิจของ T.K.S. จะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยจะเน้นไปยังกลุ่มเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีความซับซ้อนเกินไปอย่าง Deep Tech (เทคโนโลยีขั้นสูง) ซึ่งส่วนตัวมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทั้งจากประสบการณ์การทำบริษัท Tech Start up และการคลุกคลีอยู่กับบริษัทในเครืออย่าง Synnex เชื่อมั่นว่าความหลากหลายในกลุ่มธุรกิจของ T.K.S. และการโฟกัสในธุรกิจเทคโนโลยีจะสร้างรากฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งได้ในอีก 5-10 ปี

  • โฟกัสลงทุนระยะยาว

ดังนั้นแผนการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระยะยาว (5-10 ปี) มากกว่าหวังแค่ผลตอบแทนระยะสั้น เพื่อให้มั่นใจว่า ผลประกอบการของบริษัทจะมีความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทมีความคาดหวัง แม้การลงทุนที่ผ่านมาถือว่ามีผลลัพธ์น่าพอใจ แต่ก็ต้องกลับมาคอยทบทวนและประเมินผลลัพธ์อยู่เสมอ เพราะทุกอย่างตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความไม่แน่นอน เปราะบาง คาดเดายาก (VUCA) หน้าที่ของตนคือ ต้องพยายามกระตุ้นให้ทุกฝ่ายในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน มีความเข้าใจและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ

 

T.K.S. รู้ทันโลกเปลี่ยน ปูพรม 2 พันล้าน ต่อยอดธุรกิจสิ่งพิมพ์

  • รับมือปัจจัยเสี่ยงล่วงหน้า

เมื่อถามว่าบริษัทฯ รับมือกับความเสี่ยงอย่างไร เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่แค่ไหนมิจฉาชีพก็สามารถลอกเลียนแบบได้ ในเรื่องนี้ตนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์มาโดยตลอด และได้วางแผนรับมือกับความเสี่ยงมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด โดยการเข้าซื้อกิจการคู่แข่งในตลาด (TBSP) ทำให้ได้ฐานลูกค้าและฐานการผลิต สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การลดต้นทุนที่ซํ้าซ้อนกันของทั้ง 2 โรงพิมพ์ การสร้างอำนาจต่อรองกับคู่ค้า โดยอาศัยหลักการประหยัดของขนาด (Economy of scale) รวมถึงการเน้นประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

จากแผนรับมือความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งกว่าตอนก่อนเกิดโควิดเสียอีก นอกจากนี้ยังได้เริ่มต่อยอดธุรกิจจากกลุ่มฐานลูกค้าเดิมคือธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรให้กับลูกค้าผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น งานบริการ e-Solution ต่างๆ (e-tax invoice, e-document) ซึ่งเป็นสิ่งที่จะมาทดแทนงานพิมพ์ที่ค่อยๆ จะลดลงไปในอนาคต สำหรับกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น งานให้บริการเช่า RFID TAG สำหรับร้านค้าปลีกบนห้างสรรพสินค้า และขยายตลาดงาน Security label & packaging โดยมีพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและทางบริษัทมีการพัฒนาระบบตรวจสอบสินค้าของแท้ ที่มีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้

“ระบบตรวจสอบที่เราพัฒนาขึ้นในรูปแบบดิจิทัล ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผู้บริโภคได้รับเป็นของจริง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เจ้าของแบรนด์ ปกป้องเรื่องความน่าเชื่อถือและป้องกันการถูกปลอมแปลงสินค้าที่

ผู้บริโภคมีการสั่งซื้อสินค้าทุกวันนี้ เช่น เครื่องสำอาง จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เป็นสินค้าจริงหรือปลอม นอกจากนี้ยังมีการตั้งบริษัท Start up เพื่อให้บริการด้าน Digital Transformation Platform ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และถือเป็นการขยายกลุ่มธุรกิจของบริษัทออกไป เพื่อลดการพึ่งพึงรายได้และกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม”

  • เล็งยอดขายโต 10%

สำหรับผลดำเนินธุรกิจT.K.S. ในปี 2566 ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างน้อย 10% เพราะเริ่มเห็นความต้องการของลูกค้าบางกลุ่มเริ่มกลับมาหลังจาก COVID-19 เช่น งานข้อสอบกลุ่มภาครัฐ และงานพิมพ์บางประเภทเช่น Passbook ของสถาบันการเงิน และงาน security label เป็นต้น

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเดินหน้าต่อตามแผนงานที่ต้องการขยายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งการเติบโตของธุรกิจใหม่อาจจะต้องใช้เวลาและการลงทุนในช่วงแรกค่อนข้างสูง ผลลัพธ์อาจจะยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในระยะยาวยังเชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้

ทั้งนี้เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตทั้งจากภายใน(Organic Growth) จากธุรกิจที่เราบริหารเอง ทั้งในแง่ยอดขายของผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ๆ รวมถึงผลกำไรของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เป็นธุรกิจหลักก็เติบโตขึ้น ส่วนการเติบโตทางอ้อม(Inorganic Growth) ของธุรกิจที่บริษัทาเข้าไปลงทุน ก็มีอัตราเติบโตถึงสองหลัก ทั้งธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้า IT (Distributor)  บัตรพลาสติก ธุรกิจผู้รับเหมาวางระบบ  (System Integrator) โดยลูกค้าธุรกิจสิ่งพิมพ์จะเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมอันดับต้นๆจะเป็นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ข้อดีคือฐานลูกค้าของ TKS ค่อนข้างมีความหลากหลาย และมีการกระจายตัว ทำให้ไม่พึ่งพิงรายได้ลูกค้ารายใดรายหนึ่งมากจนเกินไป

“ปัจจุบันมีลูกค้าไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ รวมถึงลูกค้าต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป มองว่าอนาคตฐานลูกค้าต่างประเทศยังมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่านี้ ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เห็นการเติบโตของฐานลูกค้าตลาดต่างประเทศ”

  • เคล็ดลับเดินธุรกิจสู่เป้าหมาย

เมื่อถามถึง“เคล็ดลับ”ในการบริหารธุรกิจนายจุติพันธุ์  กล่าวว่าได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง CEO ตั้งแต่ปี 2020 ผ่านเหตุการณ์ที่ต้องรับมือหลายอย่างเพื่อการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น สถานการณ์ COVID การควบรวมกิจการ (M&A) กับ TBSP (ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น PTECH) และเป้าหมายการวางกลยุทธ์ ทิศทางของบริษัทที่จะต่อยอดเติบโตจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ (Security Printing) ไปเป็น Tech Ecosystem Builder จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คือ โอกาสและความท้าทาย ที่บริษัทต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

ดังนั้นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวในการทำงานหลัก ๆ คือ การเปิดใจรับฟัง (Open Mind) การทบทวนตัวเอง (Awareness)  การปรับตัวเปลี่ยนแปลง (Adaptability) และการเรียนรู้ กล้าตัดสินใจทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสถานการณ์ COVID ที่ผ่านมาช่วงแรก ๆ ของการเข้ามาเป็น CEO ได้มีการ Cleaning House ในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การบริหารจัดการต้นทุน คลังสินค้า การจัดการทรัพยากร กระบวนการผลิตงาน การบริหารจัดการวัตถุดิบ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดว่าสามารถจัดการและทำได้ทันที หรืออย่างการที่เราจะปรับเปลี่ยนกำหนดกลยุทธ์ ทิศทางขององค์กรใหม่ การสื่อสารก็เป็นสิ่งสำคัญ เรามีการสื่อสารวิสัยทัศน์ ค่านิยมและเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆให้กับองค์กรหรือ Build Something New ตลอดจนเป้าหมายทางธุรกิจ นโยบายการบริหารและดูแลบุคลากร รวมถึง ค่านิยมองค์กร Core Value: “T.K.S. We Can” 

  • กังวลเทคโนโลยีดิสรัป

ซีอีโอ T.K.S.  มองว่าขณะนี้มีข้อกังวลที่เป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจคือกระแส Technology Disruption ซึ่งบริษัทก็ตอบสนองในเรื่องนี้โดยการปรับกลยุทธ์เข้าสู่ธุรกิจ Digital Transformation ด้วยตัวเอง ซึ่งก็ยอมรับว่าการเติบโตของธุรกิจใหม่อาจจะต้องใช้เวลาและการลงทุนในช่วงแรกค่อนข้างสูง ผลลัพธ์อาจจะยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในระยะยาวยังเชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้

ส่วนมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566 มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในประเทศและโลก ยังมีความไม่แน่นอน เปราะบาง คาดเดายาก ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์การเมืองไม่มีความแน่ชัด ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่กลับมา หรือแม้กระทั่งกรณีการตกแต่งบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีข่าว ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งตลาดทุนและตลาดเงิน (หุ้นกู้) ในประเทศเข้าไปอีก

นอกจากนี้มองว่าปัจจัยทั้งมหภาคและจุลภาคเหล่านี้ จะกดดันให้ต้นทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งเรื่องค่าแรง ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย เห็นได้ชัดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของนักลงทุนสักเท่าไร ทั้งในมุมของยอดขายและกำไร มองว่าการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะเรียกความเชื่อมั่นและกำลังซื้อกลับมาได้ ก็หวังว่าอย่างน้อยสถานการณ์การเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนและมีรัฐบาลชุดใหม่ได้เร็วที่สุด เพื่อคลายความกังวลบางส่วนไปได้บ้าง

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3906 วันที่20-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566