ทุกฝ่ายคาดหวังรัฐบาลใหม่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้อง ฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน เร่งผลักดันการส่งออกให้พลิกกลับมาเป็นบวก เตรียมแผนรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก ฯลฯ เพื่อช่วยพลิกโฉมประเทศ ไทยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
สัญญาณบวกในเวลานี้นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวติดลมบนแล้ว อีกตัวช่วยหนึ่งคือภาคการลงทุนที่วัดได้จากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มคึกคักขึ้น แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงมีความท้าทายสูง ฟังมุมมองทางเศรษฐกิจจาก 3 ตัวแทนภาคเอกชนที่สะท้อนภาพรวมไว้อย่างน่าสนใจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุม ณ ปัจจุบันยังอยู่ในกรอบที่เหมาะสม หากได้รัฐบาลใหม่ตามไทม์ไลน์ที่ภาคเอกชนเอกชนมองไว้ไม่เกินเดือนกันยายนนี้ เชื่อว่าปีหน้าจะช่วยดึงให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างทั่วถึง และเติบโตอย่างเต็มที่ รวมถึงภาคการส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่
สำหรับในปีนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้ 3.0 - 3.5% ท่ามกลางความท้าทายที่มีอยู่มากในเดือนที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความผันผวนและไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ รายได้ไม่พอรายจ่าย ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง
“สิ่งสำคัญที่จะเป็นทางออกของการเมืองไทยวันนี้คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างทอและเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อดึงกำลังซื้อและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การลงทุนในตราสารต่าง ๆ เพื่อให้เกิดขับเคลื่อนเม็ดเงินภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับมาคึกคักได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้”
ห่วงช้าฉุดเชื่อมั่นประเทศดิ่ง
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว เอกชนคาดหวังจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยเร็ว เพราะหากมีความล่าช้าหรือยืดเยื้อจะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเริ่มมีความกังวลกับนโยบายต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุน จะเสียโอกาสในการดึงการลงทุนจากต่างชาติ และกระทบในเชิงความน่าเชื่อถือของประเทศถูกลดทอนลงตามไปด้วย
ที่สำคัญขณะนี้กำลังเป็นโอกาสดีของไทย เพราะจะเกิดการเคลื่อนย้ายทุนรอบใหม่ที่น่าจับตา หลังจากเกิดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้นักลงทุนหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น พากันย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศจีน ทำให้เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยได้อานิสงส์ ดังนั้นภายในเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนหากไทยสามารถจัดตั้ง ครม.ได้เรียบร้อยจะเป็นเวลาที่ดีที่สุด แต่ถ้าล่าช้าออกไปอีกก็จะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน
“หลังได้รัฐบาลใหม่แล้วคาดจะมีนโยบายดี ๆ ที่ได้มีการหาเสียงไว้มาใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาและพลิกโฉมประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนที่เป็นโจทย์สำคัญในลำดับแรกๆ ของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดี”
นอกจากนี้รัฐบาลใหม่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย เช่น 1. การออกมาตรการช่วยเหลือ SME ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินและมีความเสี่ยงเป็นหนี้เสีย (NPL) เพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ 2. การแก้ไขปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัว โดยการเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ และเร่งเจรจาความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการส่งออกสินค้าไทยในเวทีโลก 3. การปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานและการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ และ 4. การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้าหมาย เป็นต้น
สอดคล้องกับ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้ถือว่าไม่ได้แย่ ภาคท่องเที่ยวดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นอกจากนี้มีสัญญาณบวกอีกด้านคือ กำลังเกิดการย้ายฐานการผลิตของทุนต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก ตรงนี้จะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้อีกมากเพราะเมื่อเกิดการลงทุนสร้างโรงงานผลิตก็จะมีการส่งออกเพิ่ม จะเห็นว่าปีนี้ทุกนิคมอุตสาหกรรมขายดีทั้งหมด ทุนต่างชาติแห่เข้าไทย และลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมก็จ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นตํ่าอยู่แล้ว
“บรรยากาศของไทยตอนนี้ถ้ามีรัฐบาลเร็วก็จะดึงการลงทุนเข้ามาได้มากขึ้น ที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ดึงการลงทุนเข้ามาได้เองอยู่แล้ว แต่ถ้ามีรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกแรงก็จะยิ่งเสริมกัน อย่าลืมว่าตอนนี้เป็นโอกาสดี เพราะการเคลื่อนย้ายทุนไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อย ต้องรีบคว้าไว้”
ดังนั้นทางออกของประเทศไทยในเวลานี้ คือจะต้องรีบตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ และเลือกรัฐมนตรีที่วางตัวถูกคน ถูกที่ ถูกทาง ให้ตรงกับงาน และเป็นที่ยอมรับได้
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3917 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566