การต่อสู้กับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

26 ก.ค. 2566 | 02:30 น.

การต่อสู้กับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย... ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3908

ตั้งแต่ต้นปี 2021 เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (Major Economics) หลายประเทศประสบกับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี 2022  

และแม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะมีสัญญาณดีขึ้น แต่ขาขึ้นของเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ท่ามกลางแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงนี้ นำมาซึ่งความกังวลของหลายฝ่ายว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยายามเอาเงินเฟ้อลงของธนาคารกลางต่างๆ จะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาในที่สุดหรือไม่ 

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยการอธิบาย Basics ของเงินเฟ้อ (inflation) และ ทำความรู้จักกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อน

ภาวะเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย “อย่างต่อเนื่อง” ในที่นี้หมายถึงอย่างต่อเนื่องเป็นปี หากราคาของสินค้าและบริการสูงขึ้นเพียงครั้งเดียวและไม่ต่อเนื่อง ไม่จัดว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อ  

นอกจากนี้ ระดับ “ราคาสินค้าและบริการทั่วไป” ในที่นี้ หมายถึง ค่าครองชีพโดยรวม การเกิดเงินเฟ้อไม่ใช่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ขนมปัง หรือ น้ำมันเบนซิน เพราะราคาสินค้าบางอย่างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสมอ ถึงแม้ว่าค่าครองชีพโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม 

การวัดเงินเฟ้อมีหลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index : CPI) ที่คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทั่วไป ที่ครัวเรือนในเขตเมืองจับจ่ายโดยเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลาเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น CPI ในปี 2022 คือ 106 ขณะที่ CPI ปี 2021 คือ 100 

ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อ คือ 6% โดยสำหรับประเทศไทย CPI จัดทำโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น เมื่อเกิดการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและยาวนาน ซึ่งโดยทั่วไปนิยามว่าเกิดขึ้นเมื่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ติดลบติดต่อกันเป็นเวลา 2 ไตรมาส 

ในช่วงเวลานี้ การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การลงทุนของภาคเอกชน การจ้างงาน รายได้ การใช้จ่ายของภาครัฐ และ การส่งออกจะลดลง ขณะที่มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น  โดยมีปัจจัยมากมายที่สามารถผลักดันให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เช่น ในช่วงต้นปี 2022 ประเทศมากมายเผชิญเศรษฐกิจถดถอย อันเป็นผลมาจากการเกิด economic shocks ของ ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในหลายประเทศ คนทั่วไปมักคิดว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือ การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งนำมาสู่การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือ การเกิด supply shocks เป็นสาเหตุของเงินเฟ้อ 
โดยแท้จริงแล้ว

                                 การต่อสู้กับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้ราคาสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้นได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่จะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อต่อเนื่องในระยะยาว ถ้าไม่ใช่ธนาคารกลางใช้เครื่องมือกระตุ้นทางการเงินเข้ามาแทรกแซง

อย่างที่ Milton Friedman ผู้ชนะรางวัลโนเบลได้กล่าวไว้ว่า “inflation is always and everywhere a monetary phenomenon” ซึ่งหมายถึง เงินเฟ้อ คือ ปรากฏการณ์ทางการเงินเสมอ โดยปรากฏการณ์ทางการเงินในที่นี้ หมายถึง อัตราดอกเบี้ย และ ปริมาณเงินในระบบ 

ดังนั้น การรุกรานของรัสเซียทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งผลักดันให้ราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนี้จะไม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ถ้าไม่ใช่ธนาคารกลางอัดฉีดปริมาณเงินเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อรู้กันว่า เงินเฟ้อเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเกินไป ดังนั้น ทางที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ ก็คือ การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดผ่านทางการเพิ่มดอกเบี้ย หรือ ลดปริมาณเงินในระบบ ซึ่งจะมีต้นทุนกับระบบเศรษฐกิจ อย่างที่การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนของการลงทุนสูงขึ้น

อีกทั้งส่งผลต่อมูลค่าหุ้นลดลงและค่าเงินที่แข็งขึ้น ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายบริโภคลง บริษัทต่างๆ เริ่มมีการลดคนงาน 

ปัจจัยเหล่านี้สามารถนำมาสู่การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และเมื่อมองย้อนไปในอดีตจะเห็นว่า การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายในความพยายามที่จะลดเงินเฟ้อของธนาคารกลางหลัก เช่น สหรัฐฯ เยอรมัน แคนาดา และ อังกฤษ ตั้งแต่ปี 1950 จะตามมาด้วยการเกิดเศรษฐกิจถดถอยเสมอ 

ดังนั้น ณ สถานการณ์ปัจจุบันจึงเกิดคำถามมากมายว่า การต่อสู้กับเงินเฟ้อในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจหลักเหมือนในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่

ตัวแปรสำคัญหนึ่งที่สามารถลดโอกาสของการเกิดภาวะถดถอย จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยผ่านนโยบายการเงิน คือ การคาดการณ์ของเงินเฟ้อจากประชาชน (inflation expectation) กล่าวคือ ถ้าประชาชนยังคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อเนื่องแม้ธนาคารกลางจะเพิ่มดอกเบี้ยก็ตาม คนเหล่านี้จะก็เรียกร้องค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น อันผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก การพยายามที่จะลดเงินเฟ้อก็จะมีต้นทุนที่สูงต่อระบบเศรษฐกิจ 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนเชื่อมั่นในธนาคารกลางในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปก็จะยอมรับการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่ลดลงอันชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า การลดเงินเฟ้อลงจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัวเพิ่งเล็กน้อยเท่านั้น หรือหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ (soft landing)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลในปีนี้ 

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ธนาคารกลางจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 แต่โอกาสของการเกิด recession นั้นข่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศหลัก เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวประกอบกับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ก็ทำให้เป็นตัวช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะหลีกเลี่ยงการถดถอยในรอบนี้ได้