การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19

18 ก.ย. 2567 | 05:24 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 05:32 น.

การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.กรรณิการ์ ดำรงค์พลาสิทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4028

ช่วงปลายปีที่แล้ว ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) และ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ทำการเผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า การติดตามความคุ้มครองด้านสุขภาพทั่วไป: รายงานการตรวจสอบทั่วโลกปี 2566 (Tracking Universal Health Coverage: 2023 Global Monitoring Report) ซึ่งได้มีการกล่าวถึงความคืบหน้าของเป้าหมายที่ 3.8 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs)) โดยเป้าหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกประเทศ รวมไปถึงการคุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินจากการเข้ารับบริการทางสุขภาพ  

บทความนี้อยากจะทำการสรุปความคืบหน้าในภาพรวมของประเทศต่างๆ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกล่าวถึงผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อความคืบหน้านี้ โดยผู้เขียนจะนำผลบางส่วนจากรายงานดังกล่าวข้างต้นมาเล่าสู่กันฟัง

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของคำว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage หรือ UHC) ว่าคือ การที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา หรือ การฟื้นฟู โดยที่บริการทางสาธารณสุขเหล่านี้ จะต้องมีคุณภาพที่เพียงพอ และ การไปใช้บริการทางสาธารณสุขนั้น จะต้องไม่ทำให้เกิดความยากลำบากทางการเงินแก่ประชาชน 

จากนิยามนี้องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ร่วมมือกันพัฒนาตัวชี้วัดสำคัญขึ้นมา 2 ตัวเพื่อใช้ในการสังเกตการณ์สถานการณ์ของประเทศต่างๆ ในการที่จะไปถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประกอบด้วย

1. ดัชนีความครอบคลุมการบริการ (service coverage index) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้สรุปถึงความครอบคลุมของบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็นในมิติต่างๆ อาทิเช่น ในแง่ของการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ การดูแลเด็กแรกเกิด การดูแลสุขภาพเด็ก การฉีดวัคซีนในเด็ก การรักษาและป้องกันโรคที่ติดต่อได้ การรักษาป้องกันและจัดการโรคที่ไม่ติดต่อ  

รวมไปถึงการเข้าถึงการใช้บริการทางสาธารณสุข (access) และความสามารถในการให้บริการของระบบสาธารณสุข (service capacity) ของแต่ละประเทศ  ซึ่งความครอบคลุมการบริการเหล่านี้จะถูกนำมาสรุปให้เหลือดัชนีสุดท้ายเพียงค่าเดียว และจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 100% โดยถ้าค่าดัชนียิ่งเข้าใกล้ 100% ก็จะแสดงถึงการบริการทางสาธารณสุขที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

2. สัดส่วนของประชากรที่มีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบริโภคหรือรายได้ (incidence of catastrophic health expenditure at 10% threshold) ตัวชี้วัดนี้พยายามที่จะสรุปให้เห็นภาพว่า ประชากรในแต่ละประเทศได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินหรือไม่ จากการไปใช้บริการทางสาธารณสุข

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าประชากรที่ต้องจ่ายเงินออกจากกระเป๋าของตนเองเกินร้อยละ 10 ของรายได้ มีสัดส่วนที่สูงแสดงว่า ระบบบริการสุขภาพของประเทศนั้นๆ ยังไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (financial protection) ได้ดีเท่าที่ควร 

ผลการศึกษาจากข้อมูลปฐมภูมิ พบว่า ค่าเฉลี่ยของดัชนีความครอบคลุมการบริการทางสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่ที่ 45% ในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นปีก่อนการเริ่มต้นของศตวรรษใหม่ และเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึง 65% ในปี ค.ศ. 2015 หลังจากนั้นดัชนีเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้าจนถึงระดับ 68% ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และคงอยู่ที่ระดับ 68% มาเรื่อยๆจนถึงปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการระบาดของโควิด-19 

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า การครอบคลุมของการบริการทางสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในภาพรวมแม้จะเพิ่มขึ้นแต่เป็นไปค่อนข้างช้าตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา และการเติบโตนี้หยุดชะงักไปในช่วงของการระบาดของโควิด-19 

ถ้าแยกศึกษาตามระดับรายได้ของประเทศ จะพบว่า โดยทั่วไปความครอบคลุมการบริการทางสุขภาพนั้น เพิ่มขึ้นกับระดับรายได้ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด กล่าวคือ ค่าดัชนีความครอบคลุมการบริการทางสุขภาพของประเทศกลุ่มนี้ลดลงมาจาก 59% เป็น 58% ในช่วงก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 

ในขณะที่ประเทศรายได้ระดับอื่นๆไม่พบการลดลงของค่าดัชนีนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้น เรามีความครอบคลุมของการบริการทางสุขภาพที่สูงมากมาโดยตลอดที่ระดับมากกว่า 80% ทั้งก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19   

                                การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19

สำหรับตัวชี้วัดที่สอง รายงานฉบับนี้ มีการแสดงผลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ถึงปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วนในหลายๆ ประเทศหลังจากการระบาดของโควิด-19  

การศึกษานี้พบว่า ในภาพรวมของทั้งโลก สัดส่วนของประชากรที่มีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบริโภคหรือเกินร้อยละ 10 ของรายได้นั้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 9.6% เป็น 12.6% และ 13.5% ในปี ค.ศ. 2000 2015 และ 2019 ตามลำดับ 

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงจากภาวะการล้มละลาย อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพมากที่สุด คือ กลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 มีประชากรมากกว่า 15% ในประเทศกลุ่มนี้ ที่ประสบกับวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล และคาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงจากการล้มละลายนี้เพิ่มสูงมากขึ้นไปอีก 

สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่า มีสัดส่วนของประชากรเพียง 2.1% ที่มีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งแสดงว่า ระบบบริการสุขภาพของเรา สามารถป้องกันความเสี่ยงทางการเงินได้ดีมาก เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มรายได้ระดับเดียวกัน 

โดยสรุปรายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ความคืบหน้าในภาพรวมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 3.8 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จได้ 

รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องออกแบบนโยบายสุขภาพที่เหมาะสม ลงทุนในการสร้างบริการทางสุขภาพแบบปฐมภูมิ (primary health care) ให้เข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่จำเป็น ป้องกันความเสี่ยงจากการล้มละลาย อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และร่วมมือกันในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพไปให้ถึงจุดหมายที่วางไว้