ถอดรหัสภาษีคาร์บอน : บทเรียนจากเอเชียถึงเมืองไทย

14 ส.ค. 2567 | 06:43 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2567 | 06:51 น.

ถอดรหัสภาษีคาร์บอน : บทเรียนจากเอเชียถึงเมืองไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4018

โลกกำลังเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ภายในปี 2030 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในปี 2065 แต่เรายังขาดเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้

จากสถานการณ์นโยบายปัจจุบัน ประเทศไทยน่าจะเห็นระบบซื้อขายสิทธิ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) อย่างเร็วที่สุดในปี 2031 นั่นหมายความว่า ในอีก 7 ปีข้างหน้า เราจะไม่มีเครื่องมือ “การกำหนดราคาคาร์บอนภาคบังคับ” (Mandatory Carbon Pricing) เลย ทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ การเริ่มเก็บภาษีคาร์บอน

แต่การนำภาษีคาร์บอนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จของภาษีคาร์บอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงการออกแบบนโยบาย การรับรู้ของสาธารณชน และการตอบสนองของผู้บริโภค

ในบทความนี้ผมขอชวนผู้อ่านดูตัวอย่างจาก 3 ประเทศ
ในเอเชียที่เริ่มเก็บภาษีกันแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม: กลุ่มที่เก็บแบบ Downstream จากผู้ปล่อยคาร์บอนขนาดใหญ่ (สิงคโปร์และไต้หวัน) และกลุ่มที่เก็บแบบ Upstream ที่ขั้นตอนการซื้อพลังงานฟอสซิล (ญี่ปุ่น)

(1) Downstream carbon tax (สิงคโปร์และไต้หวัน)

สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 2019 โดยจำกัดเฉพาะโรงงานใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิน 25,000 ตันต่อปี เริ่มต้นที่ 3.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และเพิ่มเป็น 18.5 ดอลลาร์ในปี 2024 ในขณะที่ ไต้หวันเริ่มใช้ “Carbon fee” ในปี 2015 โดยเก็บจากธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเกิน 25,000 ตันต่อปีเช่นกันกับสิงคโปร์ เริ่มต้นที่ 1.0 ดอลลาร์ต่อตัน และค่อยๆ เพิ่ม ปัจจุบันอยู่ที่ 9.1 ดอลลาร์ต่อตัน

วิธีของสิงคโปร์และไต้หวันจัดว่าเป็นแบบ “ปลายนํ้า” คือเก็บจากคนที่ปล่อยก๊าซโดยตรง ซึ่งทั้งสองประเทศใช้แนวทางการจำกัดเฉพาะผู้ปล่อยก๊าซขนาดใหญ่ เพื่อจำกัดต้นทุนในการบริหารจัดการ

(2) Upstream carbon tax (ญี่ปุ่น)

ญี่ปุ่นเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 2012 โดยเก็บจากเชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งนํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยอัตราภาษีเริ่มต้นที่ 1.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2012 และแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 ดอลลาร์ 
 จุดเด่นของญี่ปุ่น คือ แนวทางการจัดเก็บที่ “ต้นนํ้า” นั่นคือเก็บจากคนนำเข้าและผลิตเชื้อเพลิง

                        ถอดรหัสภาษีคาร์บอน : บทเรียนจากเอเชียถึงเมืองไทย

แล้วประเทศไทยควรเริ่มอย่างไร?

ในความเห็นของผม รัฐควรเลือกนโยบายตาม 5 หลักการสำคัญ ดังนี้

1.ตั้งต้นให้ได้เร็วที่สุด : โดยคำนึงถึงบริบททางกฎหมาย และเครื่องมือที่มีอยู่แล้วในทางปฏิบัติ แนวทางการจัดเก็บที่ “ต้นนํ้า” เหมือนญี่ปุ่นอาจเหมาะกับไทยในช่วงแรก เพราะจัดการง่าย และปรับจากระบบภาษีสรรพสามิตที่มีอยู่แล้วได้

และในอนาคต รัฐค่อยขยายไปถึงการจัดเก็บแบบปลายนํ้า ในลักษณะ ETS เมื่อเรามีข้อมูลและระบบการวัดการปล่อยก๊าซที่เชื่อถือได้ รวมถึงเมื่อธุรกิจมีความพร้อมมากขึ้น

2.เริ่มจากน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่ม : การเริ่มจากอัตราตํ่า แล้วค่อยๆ เพิ่ม จะช่วยให้ธุรกิจและประชาชนมีเวลาปรับตัว รวมถึงเป็นการลดแรงเสียดทานจากภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ

3.สื่อสารให้เข้าใจ : ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจและยอมรับ การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของนโยบายนี้

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกสองประการที่ควรพิจารณา

4.สร้างระบบนิเวศสนับสนุน : พัฒนามาตรการเสริม เช่น การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด

5.ติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง :  แน่นอนว่าภาษีคาร์บอนเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย การติดตามและประเมินผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อภาคครัวเรือนและธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รัฐสามารถปรับแต่งนโยบายให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอนาคต

โดยสรุป การนำภาษีคาร์บอนมาใช้ในไทยเป็นความท้าทายที่ซับซ้อน แต่จำเป็นอย่างยิ่งหากเราต้องการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การออกแบบนโยบายที่รอบคอบ โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศและบทเรียนจากเพื่อนบ้าน จะช่วยให้เราสามารถสร้างระบบภาษีคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางลบ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เพียงภาระ แต่เป็นโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมไทยครั้งสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนไทยทุกคนครับ