ส่อแววอวสาน โบรกเกอร์ Z.com ...ระเบิดเวลาตลาดหุ้นไทย (1)

26 พ.ค. 2567 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2567 | 04:53 น.

ส่อแววอวสาน โบรกเกอร์ Z.com ...ระเบิดเวลาตลาดหุ้นไทย : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

ประวัติ Z.com โบรกเกอร์ไทยสัญชาติญี่ปุ่น

Z.com คือ หนึ่งในโบรกเกอร์ไทย หมายเลข 10 ที่มี จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิ้งค์ กลุ่มทุนญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่

Z.com เริ่มกิจการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 และมีทุนจดทะเบียน 2.88 พันล้านบาท

Z.com วางกลยุทธ์น่าสนใจ ในช่วงแรก คือ เป็นโบรกเกอร์ออนไลน์ 100% ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่การตลาดดูแลเหมือนโบรกเกอร์รุ่นเก่า 

อย่างไรก็ตาม Z.com ระยะหลังๆ เริ่มปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นนำช่องทางรายได้จากการปล่อยมาร์จิ้นแทน โดยจุดแข็งของ Z.com คือ การได้เงินทุน “ปริศนา” ดอกเบี้ยต่ำมาจากญี่ปุ่น

เงินทุนมหาศาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท ก้อนนี้ ที่ปล่อยกู้มาที่ Z.com ออกสู่ระบบมาร์จิ้นหุ้น แวดวงนักลงทุนเมาท์มอยกันต่างๆ นานา ทำให้ Z.com มีรายได้หลักมาจากการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้น แทนที่จะเป็นรายได้จากค่าคอมมิชชั่น

เคยเกือบ IPO

ในปี 2565 Z.com เคยเกือบจะเข้าตลาดสำเร็จจากตัวเลขผลประกอบการปี 2564 ที่มีรายได้ 648 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 261 ล้านบาท

ถึงขนาด บล.บัวหลวง ออกบทวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ให้บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้นิยาม Z.com ว่า “กำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านคุณภาพสินเชื่อที่ดีเยี่ยม”… อ่านแล้วก็ตลกดี เวลา บล.บัวหลวง สแตมป์ว่า “คุณภาพสินเชื่อที่ยอดเยี่ยม” 

เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2566-2567 ด้วยภาวะตลาดที่ซบเซา และเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทย Z.com ก็เข้าสู่ภาวะวิกฤติ

ความฝันที่ล่มสลายของ Z.com

จากผลกำไรกว่า 261 ล้านบาท ในปี 2564 และการวาดฝันเข้า IPO ของ Z.com เรื่องราวกลับตาลปัตร เหมือนวิมานเมฆที่พังทลายจากตลาดหุ้นที่ซบเซา และสภาพคล่องที่เหือดหาย

Z.com ในฐานะของผู้ปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นหุ้นรายใหญ่กว่า 1 หมื่นล้าน เมื่อหุ้นตก ตลาดพัง… ผู้ปล่อยสินเชื่อที่ไม่ระมัดระวังก็พังตาม

หุ้นตัวแสบที่ Z.com รับเป็นหลักประกัน และภายหลังถูก Force Sell ออกมา จนเกิดความเสียหายทั้งต่อตลาดหุ้น ต่อนักลงทุน และ ต่อตัว บริษัท Z.com เองก็มี อาทิเช่น หุ้น More ของเฮียม้อ… หุ้น OTO… หุ้น Nex… หุ้น Sabuy… 

โดยเฉพาะกรณีหุ้น OTO และหุ้น MORE ที่คาดการว่า บริษัท Z.com เสียหายหลายร้อยล้าน และยังฟ้องกันเป็นคดีกับผู้กู้อีกเป็นหางว่าว ด้วยปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้ Z.com ประกาศผลประกอบการขาดทุนกว่า 518 ล้านบาท ในปี 2565 และขาดทุน 726 ล้านบาท ในปี 2566 สรุปขาดทุนสะสมรวมกัน กว่า 1.163 พันล้านบาท ตั้งแต่เปิดกิจการ

สถานการณ์ปัจจุบันของ Z.com  

โดยล่าสุด สถานการณ์ของโบรกเกอร์ Z.com ภายใต้การบริหารของ CEO “ประกฤต ธัญวลัย” หนึ่งในกรรมการ ASCO หรือ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ก็แว่วๆ ว่าทุนญี่ปุ่นยื่นคำขาด อยากปิดกิจการ และ cut loss ความเสียหาย 

โดยคาดว่า ภายใน 31 พ.ค 2567 นี้ จะยื่นแจ้งลูกค้าเรียกคืนหนี้ให้ปิดพอร์ตลงทุนทั้งหมดใน 3 เดือน และจะปิดกิจการในสิ้นปี พร้อมตัดพ้อทำนองว่า เข็ดกับคนไทย และผู้บริหารไทยแล้ว… 

บทเรียนราคาแพง…จากหุ้นที่ปล่อย สู่หุ้นที่ปั่น?

บทเรียนกรณีศึกษาของ Z.com นี้ มองได้หลายมิติ ทั้งความหละหลวมของการปล่อยสินเชื่อ ทั้งการประเมินความเสี่ยงที่ล้มเหลวก่อให้เกิดกรณีปัญหากับโบรกเกอร์ หรือ การวางยุทธศาสตร์ที่ผิดของคณะกรรมการบริษัท ที่ผันตัวจากโบรกเกอร์ตัวกลางค่าหลักทรัพย์เป็น โรงรับจำนำหุ้น โดยไม่เข้าใจถึงความเสี่ยง และความเปราะบางของตลาดหุ้นไทย 

ทั้งนี้ หากมองในกรณีที่แย่ที่สุด ก็อาจมองได้ว่า มีคนในเอื้อประโยชน์เจ้าของหุ้น รวมถึงเจ้ามือหุ้น เช่น More ในการให้กระสุนไปดันราคาหุ้นที่พื้นฐานไม่ดีจนเกินราคา

คิดง่ายๆ คือ หากเป็นเงินคุณเอง มีคนมาขอกู้โดยเอาหุ้น More ค้ำ ที่แทบไม่มีธุรกิจหลัก มีรายได้แค่ร้อยกว่าล้านบาทต่อปี และขาดทุนแทบทุกปีคุณจะให้กู้มั้ย? 

แล้วทำไมคณะผู้บริหาร Z.com จึงให้กู้?? 

มิหนำซ้ำยังมีบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง มาอวยกันไส้แตกว่า “กำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านคุณภาพสินเชื่อที่ดีเยี่ยม”…แถมประเมินกำไรอนาคตไว้อย่างเลิศหรูอีก… เดชะบุญที่ Z.com เข้า IPO ไม่ได้ เพราะหากเข้าได้ คงกลายเป็นโศกนาฏกรรมแมลงเม่าครั้งใหญ่อีกครั้ง

ขอจบตอนที่ 1 ไว้เท่านี้ ส่วนตอนที่ 2 คงเป็นการเจาะลึกต่อไปว่าหุ้นตัวใดส่อโดน Force sell บ้าง หาก Z.com หยุดกิจการจริง… คิดแล้วหวาดเสียวแทน