*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,974 ระหว่างวันที่ 14-16 ก.พ. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** วันนี้ขอพาท่านผู้อ่านไปดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เป็นข่าวไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เป็นข้อมูลที่รวบรวมโดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่พบว่า ขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2566 อินโดนีเซีย ยังครองอันดับ 1 ประเทศที่มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือ เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน
โดยมีมูลค่าจีดีพี 1.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีดีพีในปี 2566 ขยายตัว 5.0%, อันดับ 2 ประเทศไทย มูลค่าจีดีพี 512,193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 (ขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน)
อันดับ 3 สิงคโปร์ มูลค่าจีดีพี 497,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.1%, อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ มูลค่าจีดีพี 435,675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.3%, อันดับ 5 เวียดนาม มูลค่าจีดีพี 433,356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.7%, อันดับ 6 มาเลเซีย มูลค่าจีดีพี 430,895 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.0%,
อันดับ 7 เมียนมา มูลค่าจีดีพี 74,861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.8%, อันดับ 8 กัมพูชา มูลค่าจีดีพี 30,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5%, อันดับ 9 บรูไน มูลค่าจีดีพี 15,153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% และอันดับ 10 สปป.ลาว มูลค่าจีดีพี 14,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบกับปี 2565
*** ขณะที่คาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีของ 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน ในปี 2567 คาดการณ์จีดีไทยยังขยายตัวอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของอาเซียน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาด “จีดีพีไทย” จะขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.2-3.2% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านคาดจีดีพีจะขยายตัวเฉลี่ยที่ระดับ 3-6%
ดร.อัทธ์ บอกว่า ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ พึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก รองลงมาคือ อุตสาหกรรม และ ภาคเกษตร โดยอาเซียนพึ่งพาภาคบริการเฉลี่ยสัดส่วน 52% พึ่งพาภาคอุตสาหกรรม 37.6% และ ภาคเกษตร 10% โดย สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมาจากภาคบริการมากที่สุด ตามด้วยฟิลิปปินส์ สำหรับสัดส่วนการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรม พบว่า ประเทศที่มีการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเกินค่าเฉลี่ยมีเพียงประเทศ อินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน ประเทศอาเซียนที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นนอกภาคเกษตรเป็นหลักคือ เวียดนาม (ปี 2030 ตั้งเป้าหมายเป็นประเทศ Upper Income Country) และ อินโดนีเซีย (ปี 2045 ตั้งเป้าหมาย GDP 7 ล้านล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ)
ขณะที่ มาเลเซีย เน้นปรับโครงสร้างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย ไปพร้อมกับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งภูมิภาค ปัจจุบัน ประเทศในอาเซียนด้วยกัน มี สิงคโปร์ เป็น “ประเทศพัฒนา” แล้ว โดยวัดจากรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี ส่วนประเทศมาเลเซีย และ ไทย เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง ในขณะที่อินโดนีเซีย และฟิลิปฟินส์ เป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ
*** ทั้งนี้ ธนาคารโลกให้คำจำกัดความ เมื่อ 1 ก.ค. 2566 ว่า ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-Income Economies) มีรายได้ตั้งแต่ 4,450-13,845 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower Middle Income) มีรายได้ต่อหัว 1,136 - 4,465 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี โดย “ประเทศไทย” อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง รายได้ต่อหัวคนไทย 7,230 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 256,000 บาท) ต่อคนต่อปี ขณะที่มาเลเซีย เฉลี่ยที่ 11,780 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
*** ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ของ “ไทย” ในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน กำลังรอการพิสูจน์ฝีมือในการบริหารประเทศของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ที่เข้ามารับช่วงบริหารประเทศต่อจาก “รัฐบาลบิ๊กตู่” ว่า จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นได้หรือไม่ โดยที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้อง “ไม่รั้งท้าย” ในการขยายตัวเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เหมือนเมื่อปีที่ผ่านมาอีก
*** ไปกันที่เรื่องการ “ต่ออายุเกษียณ” ถ้านโยบายยืดระยะเวลาการเกษียณอายุการทำงาน จาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อตอบรับการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ทำได้จริง “ภาคเอกชน” หลายองค์กรคงสมหวังดังใจหมาย ในยามที่แรงงานมีทักษะมีฝีมือขาดแคลน รวมถึง วิสูตร พันธวุฒิยานนท์ นายกสมาคมผู้รับเหมาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ออกมาตอกย้ำอยู่บ่อยๆ และขานรับกับทีดีอาร์ไอ ว่า ถ้ารัฐบาลทำให้คนทั้งประเทศเกษียณที่อายุ 65 ปีได้ (ยกเว้นราชการ) จะทำให้จีดีพีของประเทศพุ่งตามที่ทีดีอาร์ไอระบุที่ 0.68%
เพราะเวลานี้คนเกษียณที่อายุ 60 ปี มีมากถึง 500,000 คนต่อปี ขณะที่คนเกษียณที่อายุ 55 ปี ก็มีมากกว่า 200,000 คน ถ้าเอาคน 2 วัยนี้มารวมกันต่อปี จะมีคนเกษียณอายุการทำงานราว 700,000-800,000 คนต่อปี ถือว่ามากโข นโยบายนี้ภาคเอกชนคงต้องเร่งรีบออกแรงจี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้กว่าจะเป็นจริงได้ต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งการพิจารณาใน ครม. ในสภาฯ ผ่าน 3 วาระ ยังต้องเข้าสมาชิกวุฒิสภาอีก
*** ปิดท้าย...ขอแสดงความยินดีกับ “พี่โร๊ะ” พล.ต.ท.พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนอัสสัมชัญระยอง (ACR 14) ย้อนดูประวัติการทำงานไม่ธรรมดา ไล่ตั้งแต่ผู้บังคับการกองโยธา สำนักงานส่งกำลังบำรุง ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้บังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนความทรงจำที่ไม่เคยลืมคือ บราเดอร์ ฟิลลิป อธิการขวัญใจ ACR 14 ตลอดจนคุณครูทุกท่านที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทวิชาให้จนประสบความสำเร็จในชีวิตปัจจุบัน และเพื่อนรักทุกคนที่เคยเรียนเคยเล่นมาด้วยกัน ...เพิ่งรู้ว่า “พี่โร๊ะ” มีอารมณ์สุนทรีย์ชอบเสียงเพลงมาแต่เด็ก เพราะในวัยเด็กชอบการเรียนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อนี่เอง