*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3976 ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2567 โดย...กาแฟขม***
***โลกร้อนคนละลาย อากาศประเทศไทยร้อนระอุสุดๆ บางจังหวัดอุณหภูมิพุ่งเป็นปรอทแตกไปที่ 40 องศา ร้อนอย่างเดียวไม่พอ เจอฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่ทำลายระบบหายใจของผู้คนทีละน้อยๆ เชียงใหม่หนักสุดกลายเป็นเมืองที่มีฝุ่นควันพิษติดระกับโลก เข้าไปแล้ว
ฝุ่น ควันจากไฟป่าที่ลุกลามในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ไม่มีทีท่าจางลงแต่อย่างใด ขนาดเตรียมการพร้อมสรรพปีนี้ในการรณรงค์ไม่เผา แต่เมื่อเข้าหน้าร้อนก็ไม่สามารถหยุดยั้ง ถ้าเกิดจากธรรมชาติไม่เป็นไรหาทางแก้ไขกันไป แต่ถ้าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ต้องหาทางบริหารจัดการปัญหาให้ได้
ที่ลืมไม่ได้ส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นควันพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน หักร้างถางพง ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญฝุ่นควันพิษสะสมในอากาศ ลอยอบอวลข้ามพรมแดน เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตกจริงๆ ภายในประเทศไทยเข้าใจว่าเจ้าที่รัฐ อาสาสมัครดับไฟป่าทำงานกันเต็มที่ เต็มขีดความสามารถ แต่ไม่อาจฉุดรั้งจริงๆ
*** พูดเรื่องโลกร้อน โลกรวน โลกเดือด ต้องเงี่ยหูฟังคนนี้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พูดได้อย่างกินใจ “ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ ยาก ดี มี จน ฝ่ายค้าน หรือ รัฐบาล ทุกคนจะประสบปัญหาเหมือนกันหมด ถ้าน้ำท่วมก็น้ำท่วมเหมือนกันหมด เกิดภาวะรุนแรงเหมือนกันหมด เป็นเรื่องที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีแบ่งแยกว่าฝ่ายใด มีอย่างเดียวคือ ต้องร่วมมือกันทำงาน”
เป็นเรื่องที่ปลัดจตุพรออกมาเตือนภัยหลายรอบให้ทุกคนตระหนักร่วมกัน เป็นปัญหาร่วมกันที่ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ และต้องไม่ใช่คนไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพลเมืองโลก ที่ต้องร่วมมือกันและไม่ใช่ร่วมกันแค่พูดกันเฉยๆ โก้ๆ หรูๆ แต่ต้องลงมือทำจริง มิฉะนั้นจะอยู่กันยาก
*** ไหนๆ ว่ากันด้วยเรื่องนี้แล้ว ขอบอกกล่าวกันสักเล็กน้อย ในเรื่องใหญ่ๆ เช่นนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะเปิด "สำนักข่าวไคลเมต เซนเตอร์" ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข่าวสาร ตีฆ้องร้องป่าว รุก รับ ปรับ เปลี่ยน เพื่อโลกของเรา เป็นสำนักข่าวที่เกิดขึ้นภายใต้ธงของฐานเศรษฐกิจ ให้เป็นศูนย์กลางเนื้อหาสาระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย NET ZERO
โดยจะร่วมมือเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและทุกภาคส่วน กระจายข้อมูลข่าวสาร นวัตกรรมใหม่ๆลดก๊าซเรือนกระจก กลไกใหม่ๆในการจัดการคาร์บอน การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด เตือนภัย ขับเคลื่อนไปสู่คนยั่งยืน ธุรกิจยั่งยืน สังคมยั่งยืนร่วมกัน
**ฐานเศรษฐกิจจัดเต็ม จริงจัง เรื่องนี้ สำนักข่าวไคลเมต เซนเตอร์ รุก รับ ปรับ เปลี่ยน เพื่อโลกยั่งยืน ได้ฤกษ์ เปิดตัวกันที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 นี้ เซ็นเอ็มโอยู กับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ปลัดจตุพร บุรุษพัฒน์ มาปาฐกถาพิเศษ บทบาท ภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชนกับการรับมือโลกร้อน ตามด้วยการเสวนาที่เชิญบรรดาซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ มาพูดจาปราศรัย มาถอดบทเรียน มาให้ข้อคิดข้อแนะนำใครทำอะไรกันไปถึงไหน ให้โลกนี้ปลอดภัยยืนยาวส่งต่อให้ลูกหลานอยู่อาศัยกันได้ในรุ่นต่อๆ ไป
*** ไปดูเรื่องการบ้านการเมืองหน่อย คราวก่อนว่าด้วยเหตุผลเรื่องของการ ปรับ ครม. และใครจะเข้าบ้าง ก็เริ่มชัดเจนแจ่มชัดมากขึ้น เมื่อ พิชัย ชุณหวชิร ตัวเต็งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ เริ่มแต่งตัวรอด้วยการขายสินทรัพย์ออกไปทีละรายการ สัญญาณมาแน่ในเร็ววันนี้
ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานก็วิ่งกันขาขวิด เพื่อให้เตะตา นายกฯ นายใหญ่ หวังอยู่ต่อรักษาเก้าอี้ ไม่ถูกปรับพ้น ครม. พรรคร่วมรัฐบาลก็เตรียมขยับ มีการรวมพลเช็กกำลัง หวังต่อรองเก้าอี้ และหลังจากนี้ไปจะมีกระแสกดดัน เพื่อเขี่ยคนขวางหู ขวางเท้า ขวางเก้าอี้ให้พ้นทาง ออกมาเป็นระยะๆ เป็นแม่นมั่น ทั้งหมดทั้งมวลในการปรับ เปลี่ยน ต้องยึดโยงเอาคนทำงานเป็น ทำงานได้เข้ามา
***ไม่พูดเรื่องนี้คงไม่ได้ เป็นเรื่องราวใหญ่โตทางการระหว่างประเทศ เมื่อเอกอัครราชทูตไทยประจำองค์การการค้าโลก ลุกขึ้นปกป้องผลประโยชน์ชาติ ในเวทีประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก ขัดแข้ง ขัดขาอินเดีย ในเวทีนี้รู้กันไปทั่วว่าอินเดียเป็นขาใหญ่จอมกร่าง ที่คอยขัดขวางไม่ให้การค้าเสรีไปถึงไหน คุยไม่รู้เรื่อง เอาแต่ปกป้องผลประโยชน์ตัวเองนั่นคือ อินเดีย เรียกว่าขึ้นชื่อลือชาค้านมันซะทุกเรื่องโดยไม่ฟังใคร นั่นคืออินเดีย
เมื่อทูตไทยปกป้องผลประโยชน์ชาติ ทางการไทยต้องซัพพอร์ตหนุนหลัง ไม่ใช่กลับด้านไปตำหนิ หรือ เลยเถิดไปถึงขั้นเรียกกลับ พิจารณากันให้ดีๆ เถิด คนทำงาน ตั้งใจทำงานจะอยู่อย่างไร ถ้ารัฐบาล หรือ ฝ่ายนโยบายบ้าจี้ เต้นไปตามขาใหญ่ซะทุกเรื่อง ให้ความเป็นธรรม ฟังเหตุ ฟังผลคนของตัวเองบ้าง วันหลังมีเวลาจะเล่ายาวๆ ให้ฟัง ทูตการค้า ทูตการเมือง บทบาทแต่ละฝ่ายเขาเป็นเช่นไร การแสดงออกแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร เวทีระหว่างประเทศหรือบทบาทในแต่ละด้าน จะเดินกันอย่างไร