*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,989 ระหว่างวันที่ 5-8 พ.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** การปรับ ครม. จาก “ครม.เศรษฐา 1” สู่ “ครม.เศรษฐา 2” เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้ามาหลายคน โดยเฉพาะตำแหน่งที่น่าจับตามองคือ การแต่งตั้ง พิชัย ชุนหวชิร เป็นรองนายกฯ ควบรมว. คลัง ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่า พิชัย จะเข้ามาทำหน้าที่ “รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ” ด้วย เพื่อรับไม้ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน ที่สละเก้าอี้ รมว.คลัง เหลือทำหน้าที่นายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว
*** ทำให้ พิชัย ที่นอกจากจะขับเคลื่อนนโยบายการคลังของประเทศแล้ว ยังต้องดูแลงานด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาล ควบคู่กันไปด้วย ต่อไปนี้ ความหวังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ภาระที่นอกจากจะตกอยู่กับ “นายกฯ เศรษฐา” แล้ว พิชัย ชุนหวชิร ก็จะถูกตั้งความหวัง แบกรับภาระในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ขณะนี้หลายภาคส่วนได้ออกมาเสนอข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
*** เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดหวังว่า ระยะต่อไปที่รัฐบาลจะเข้าโหมดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะงบประมาณค้างท่อ และ ล่าช้ากว่า 8 เดือน จะได้รับการอนุมัติ รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลจะเร่งเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนช่วงปลายปี 2567
*** สนั่น อุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย มองว่า การปรับ ครม. ที่นำบุคคลผู้มีความรู้ด้านเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่ม ถือว่าเหมาะสม มีรัฐมนตรีที่เข้าใจภาคเอกชน และมีประสบการณ์การบริหารงาน จึงเชื่อว่าจะช่วยรัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าอย่างเต็มที่ คือ การเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ
โดยเฉพาะเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับอนุมัติออกมาทุกกระทรวง การช่วยเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเงินทุน รวมถึงเร่งเจรจาความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ และดึงดูดการลงทุน สร้างความชัดเจนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เสริมกับการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรหลักในการดันเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ และเป็นเรื่องที่น่าจะดำเนินการเร่งด่วน
*** อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะตำแหน่ง รมว.คลัง ที่ทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น และมีเวลาดำเนินโครงการได้เต็มที่ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีความชัดเจนขึ้น
สิ่งที่คาดหวังคือ ภาครัฐควรแบ่งงบบางส่วนออกมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอี และ ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยลดค่าครองชีพเป็นการเร่งด่วน ซึ่งเศรษฐกิจไทยเวลานี้ ต้องการทั้ง การประคอง และ กระตุ้น
วันนี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และรอไม่ไหว ดังนั้น อยากเห็นงบประมาณบางส่วนที่ออกมาเร่งด่วน และทันที เพื่อช่วยประคองระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สร้างงาน หรือบรรเทาผลกระทบในรูปแบบต่างๆ
*** ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ชี้ว่า การที่มีบุคคลเฉพาะเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และรมว.คลัง แทนนายกฯ เป็นเรื่องดีช่วยแบ่งเบาภาระนายกฯ และโฟกัสการทำนโยบายได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
สำหรับโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย มองว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องเร่งขับเคลื่อน 2 เรื่อง คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และ มาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวที่ต้องทำพร้อมกัน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อยากให้มุ่งเน้นการบริโภคช่วง 6 เดือน ที่รอดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตามแผนจะออกมาช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อาทิ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและมาตรการลดหย่อนภาษี
สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดิจิทัลวอลเล็ต โดยที่ผ่านมาเคยใช่แล้วก็ช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งงบปี 2567 และปี 2568 อย่างคุ้มค่าที่สุด สอดคล้องกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลคงจะมีเตรียมไว้อยู่แล้ว เพื่อผลักดันให้จีดีพีกลับมาเติบโตที่ระดับ 4%
...ทั้งหมดคือ ข้อเสนอ และ ความคาดหวังต่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล...