การเคหะแห่งชาติเร่งผลักดันโครงการที่อยู่อาศัย “ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า” วางแผนพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ นำโมเดล “เอ้ก เจแปน” สร้างสตาร์ตอัพ
นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเชีย จำกัด ดำเนินงานวิจัย “โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง” ซึ่งได้คัดเลือกพื้นที่ของการเคหะฯบริเวณรอบสถานีรถไฟลาดกระบัง บริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อจัดทำผังแม่บทภายใต้ชื่อ “ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า” โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นเมืองของคนรุ่นใหม่ เมืองธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเมืองที่อยู่อาศัย
โดยศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้ามีความสมบูรณ์ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานการค้าระหว่างประเทศ การค้าปลีก การประชุม การมีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ การจัดแสดงสินค้า และการบริการ รวมถึงมีระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร และศูนย์เศรษฐ กิจอุตสาหกรรมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
“ขณะนี้ผลศึกษาสรุปออกมาแล้ว เมืองร่มเกล้าจะเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ จะเป็นเมืองจักรยาน บ้านและที่ทำงานอยู่ไม่ไกลกัน สามารถเดินทางด้วยจักรยานได้ นอกจากนี้วางแผนจะดึงกลุ่มสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้โครงการ เช่น นิด้า และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพราะเรามีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ขณะเดียวกันจะดึงบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงมาเปิด และเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นโมเดลที่ไปเห็นจากญี่ปุ่นเรียก เอ้ก เจแปน (Egg Japan) ถ้าทำได้ธุรกิจ สตาร์ตอัพก็จะเกิดเป็นรูปธรรม” ผู้ว่าการ กคช.กล่าวและเสริมว่า
“เขียนรูปแบบ และผังโครงการเรียบร้อยแล้ว ด้านการดำเนินการมีกลุ่มเอกชนที่สนใจติดต่อมา ซึ่งก็มีแนวคิดใกล้เคียงกับผม อยากทำในแนวเดียวกัน ถ้าสามารถไปด้วยกันได้ ก็เดินหน้าลุย โครงการนี้มีเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ รองรับคนได้หลายแสนคน”
ทั้งนี้ การออกแบบโครงการได้นำเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) มาใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจบทบาทของพื้นที่ รวมถึงระบบการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และระบบการเชื่อมโยงทางกายภาพสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยใช้เกณฑ์ย่อยในการออกแบบโครงการซึ่งได้แก่ เกณฑ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development Principles) แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบท่าอากาศยาน (Airport-Oriented Development Concept) เกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (LEED-ND) และกฎหมายผังเมือง(Form-Based Codes)
รวมทั้งการใช้แนวคิดในการออกแบบการบริหารจัดการทางการเงินที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการของภาครัฐ (PPP)พ.ศ.2556 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการลงทุนโครงการศูนย์เศรษฐกิจ โดยจะใช้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ประเภทกองทรัพย์สินที่เรียก REIT หรือ Real Estate Investment Trust เป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารจัดการโครงการ เพื่อสร้างมูลค่าทรัพย์สินแก่การเคหะแห่งชาติในระยะยาวและลดภาระการลงทุนทางตรง พร้อมมุ่งสู่เมืองที่รักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการปล่อยมลพิษและลดการใช้พลังงานด้วยการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับมาตรฐานอาคารเขียว การออกแบบให้ถนนมีแนวต้นไม้ใหญ่ไม่น้อยกว่า 8% รวมถึงการออกแบบสวนสาธารณะขนาดต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง เป็นต้นโดยจะนำแผนแม่บทที่ได้ไปพัฒนาโครงการในรูปแบบ mixed-use ของการเคหะแห่งชาติต่อไปในอนาคต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560