กนอ.เร่งพัฒนานิคมร่วมดำเนินงานอีก 4 แห่ง รวมพื้นที่ 1.3 หมื่นไร่ ในเขตส่งเสริมพื้นที่อีอีซี พร้อมเปิดรับนักลงทุนได้ปีหน้า ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับการลงทุนเกือบ 4.5 แสนล้านบาท หลังเปิดดำเนินงานใน 18 นิคมฯเขตส่งเสริมแล้ว
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประกาศเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 21 เขต ครอบคลุมพื้นที่ 86,775 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ จำนวน 28,666 ไร่ โดยเขตส่งเสริมฯดังกล่าว มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เปิดรับนักลงทุนแล้วจำนวน 17 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ราว 15,431 ไร่ ยังเหลืออีก 4 พื้นที่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ (โครงการ 2) พื้นที่ 8,226 ไร่ จังหวัดชลบุรี แต่จะดำเนินการพัฒนาในช่วงแรก 6,100 ไร่ จังหวัดชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ พื้นที่ 690 ไร่ จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่ 1,281 ไร่ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี พื้นที่ 3,086 ไร่ จังหวัดระยอง ซึ่งทั้ง 4 แห่งนี้ คาดว่าจะเปิดรับลูกค้าเข้าลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป รองรับการลงทุนได้ราว 4.5 แสนล้านบาท
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กนอ.กำลังเร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 4 แห่ง ดังกล่าว รวมพื้นที่ราว 13,265 ไร่ เพื่อเปิดรับนักลงทุนให้ได้ภายในปี 2563 หลังจากที่เขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายได้พัฒนาและเปิดดำเนินการไปแล้ว 17 แห่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่หรือเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นิคมฯ ยามาโตะ อินดัสทรีส์ พื้นที่ 690 ไร่ จังหวัดชลบุรี จะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง สามารถรองรับการลงทุนได้ 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนนิคมฯซีพีจีซี จะรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนราว 5.6 หมื่นล้านบาท
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่ 1,281 ไร่ รายงานศึกษาผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเริ่มพัฒนาในระยะแรกราว 200 ไร่ ควบคู่ไปกับเปิดรับลูกค้า โดยมีแผนการลงทุนในระยะ 3 ปี ประมาณ 2,747 ล้านบาท
ทั้งนี้ นิคมดังกล่าวจะเน้นรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พื้นที่ 245.8 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 24,501 ล้านบาท อุตฯการบินและโลจิสติกส์ พื้นที่ 491.5 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 30,031 ล้านบาท และอุตฯหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม พื้นที่ 245.8 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 20,987 ล้านบาท รวมทั้ง 3กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าลงทุนเบื้องต้นราว 7.55 หมื่นล้านบาท
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้อมตะเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ (โครงการ 2) จังหวัดชลบุรี ในระยะแรก 6,100 ไร่ แล้ว ซึ่งโครงการนี้จะถูกพัฒนาให้เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะ ใช้พื้นที่รองรับการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 4,614 ไร่ ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 1,423 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 1.63 แสนล้านบาท อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 1,455 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 6.9 หมื่นล้านบาท การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 278 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 7 พันล้านบาท
อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 171 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 5 พันล้านบาท การบินและโลจิสติกส์ 277 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ดิจิทัล 306 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 1.3 หมื่นล้านบาท การแพทย์ครบวงจร 248 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 8 พันล้านบาท หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 131 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 1 หมื่นล้านบาท การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 325 ไร่ รองรับการลงทุนได้ 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น รวมรองรับการลงทุนได้ราว 3 แสนล้านบาท จากงบลงทุนที่อมตะใช้พัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ที่จะทยอยใช้เป็นระยะๆ
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3488 ระหว่างวันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562