สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล

30 ก.ค. 2562 | 11:16 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3492 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’

ประวัติศาสตร์การประมูล

 

                  โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

                  คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ได้มีการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร ผ่านเกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคมาแล้ว เมื่อเปิดซองด้านการเงินซึ่งกรอบวงเงินการร่วมลงทุนของรัฐกับเอกชนไม่เกิน 119,425 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก จึงเท่ากับ กลุ่มซีพี เป็นผู้ชนะการประมูล

                  คณะกรรมการฯ เรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.61 และเริ่มสรุปผลการประมูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 7 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ”คือการรถไฟแห่งประเทศไทย-กระทรวงคมนาคม ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน

                  อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้าที่หมายถึงการสูญเสียโอกาสของประเทศ

                  ทำไม “เอกชน-รัฐ” จึงมีการยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้

                  ถ้าเป็นโครงการอื่นๆ จะยาวนานขนาดนี้หรือไม่...

                  โครงการนี้สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้น ติดขัดตรงไหน มีอะไรในกอไผ่...

                  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นคำถามหลักของสังคมไทยที่ถามกันให้ทั่วไปในทุกโต๊ะเสวนา...การลงนามจึงยืดเยื้อยาวนานจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 มาเป็น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2  เปลี่ยน “รัฐมนตรี” จาก อาคม เติมพิทยาไพสิฐ มาเป็น “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แต่บัดนี้ยังไม่มีการลงนาม ยังต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดในสัญญากันแบบต้องใช้ “แว่นขยาย”

                  ล่าสุด ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมา บอกว่า ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดูรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้รอบคอบ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในขั้นตอนร่างสัญญา และใกล้จะลงนามร่วมกับเอกชนแล้ว ขอให้ดูรายละเอียด โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้เข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องสัญญาร่วมกันในอนาคต

                  การส่งมอบที่ดินในความหมายคือ พื้นที่รวมที่ไฮสปีดวิ่งผ่านรวม 4,500 ไร่ เป็นพื้นที่ต้องเวนคืนราว 850 ไร่ และเป็นพื้นที่ติดปัญหาประมาณ 20% หรือประมาณ 2,000 ไร่ โดย รฟท.กำหนดส่งมอบหลังออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ภายใน 2 ปี

                  สัญญาณทางการเมืองที่ส่งผ่านออกมาคือ รายละเอียดสัญญายังไม่จบ! “รัฐมนตรีศักดิ์สยาม” จึงออกมาสำทับแบบนี้

                  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกท่านได้ติดตามเกาะติดโครงการนี้ ผมขอนำรายละเอียดสัญญาในโครงการนี้มาทยอยนำเสนอในคอลัมน์นี้ต่อเนื่องซึ่งอาจจะยาวมาก แต่ขอตัดนำเสนอเป็นตอนๆ เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์และตอนสรุป ผมจะมาขมวดปมให้เห็นภาพอีกครั้งนะครับ

                  สำหรับร่างสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ผ่านการตรวจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น สาระสำคัญอยู่ในข้อ 3.4 ข้อตกลงร่วมลงทุนระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา

                  เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รฟท. โดยอาศัยมติคณะกรรมการนโยบาย เมื่อวันที่ (...) และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ (...) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบให้อำนาจแก่ รฟท. ในการเข้าร่วมลงทุนกับเอกชนและพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ได้ตกลงเข้าร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาในโครงการและเอกชนคู่สัญญาตกลงที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการ นี้

                  ขอบข่ายของงาน รูปแบบการร่วมลงทุนและสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย

                  4.1 ขอบข่ายของงาน ภายใต้หลักการของโครงการฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามข้อ 3.1(2) และขอบข่ายของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3 คู่สัญญาตกลงให้ขอบข่ายของงานภายใต้สัญญาร่วมลงทุนครอบคลุมถึงงานดังต่อไปนี้ โดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องดำเนินการดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาทั้งสิ้น (1) รถไฟความเร็วสูง

                  (ก) งานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานการออกแบบและงานการก่อสร้างงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง และงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ รวมถึงการจัดหา ผลิต ติดตั้งงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง การทดสอบแต่ละระบบ (Individual Testing) การทดสอบระบบโดยรวม (Integrated System Testing) การทดลองเดินรถ (Trial Run) การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 และขอบเขตของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3

                  (ข) งานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เอกชนคู่สัญญา มีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานการให้บริการเดินรถ และงานการซ่อมและบำรุงรักษาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในส่วนของรถไฟความเร็วสูงรวมถึงงานการจัดหาและการติดตั้งงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เพื่อทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพไปหรือชำรุดเสียหาย งานดูแลรักษาความสะอาดและงานรักษาความปลอดภัย ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 และขอบเขตของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3

                  (2) แอร์พอร์ต เรลลิงค์ (ก) งานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานการออกแบบและงานการก่อสร้างเพื่อปรับปรุงงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในส่วนของ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ รวมถึงการจัดหา ผลิต ติดตั้งงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ การทดสอบแต่ละระบบ การทดสอบระบบโดยรวม การทดลองเดินรถ การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 และขอบเขตของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3

                  (3) แอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย (ก) งานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติการออกแบบและงานการก่อสร้างงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย และงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ รวมถึงการจัดหาผลิต ติดตั้งงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ส่วนต่อขยาย การทดสอบแต่ละระบบ การทดสอบระบบโดยรวม การทดลองเดินรถ การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 และขอบเขตของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3

                  (4) การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพัฒนาพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การเช่าและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1 รวมถึงเป็นไปตามข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ และการดำเนินการอื่นใดภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 ขอบเขตของโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3

 ติดตามตอนต่อไป