คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล(7)
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน
อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
สัญญาติดขัดตรงไหน มาติดตามร่างสัญญาตอนที่ 7 ว่าด้วยเรื่องเงื่อนไขการดำเนินโครงการ ซึ่งในตอนที่แล้วได้ทิ้งปมไว้เรื่องแอร์พอร์ตลิงค์ ในข้อ 4 แผนทางการเงินสำหรับการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการตลอดระยะเวลาการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งมีรูปแบบตามที่ รฟท. อนุมัติ โดยอย่างน้อยแผนดังกล่าว ต้องแสดงแผนการใช้เงินเพื่อการดำเนินงานข้างต้นในแต่ละปี ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละส่วนดังกล่าว
ทั้งนี้ หากรายละเอียดและแผนการดำเนินงานตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างแตกต่างจากแผนการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และ/หรือแผนการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟตามที่ระบุไว้ในข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ ให้เอกชนคู่สัญญาแจ้ง รฟท.ด้วยถึงสิ่งที่แตกต่างพร้อมทั้งแสดงเหตุผลและความจำเป็นของการดำเนินการดังกล่าว
(ง) สำเนารับรองถูกต้องของกรมธรรม์ประกันภัยที่เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องจัดทำตามที่กำหนดในข้อ 20.1(1) โดยเอกชนคู่สัญญาจะนำส่งเอกสารดังกล่าวภายในหกสิบ (60) วัน นับจากวันที่ รฟท.ส่งมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ
6.4 ไม่ว่า ณ เวลาใดๆ คู่สัญญาฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบโดยทันที เมื่อเงื่อนไขอันหนึ่งอันใดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6.1 สำเร็จแล้ว หรือเมื่อได้ทราบถึงเหตุการณ์พฤติการณ์หรือสภาวะที่อาจทำให้เงื่อนไขข้อใดไม่สำเร็จ ณ วันที่กำหนดให้เงื่อนไขสำเร็จครบถ้วน
6.5 เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่เริ่มต้นการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ในสถานีรถไฟของโครงการเกี่ยวกับรถไฟแต่ละสถานีตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2 (4)
7. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุน รฟท. และเอกชนคู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
7.1 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ สินที่ใช้ในรถไฟความเร็วสูง
(1) ทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญ
ในช่วงระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(1) เอกชนคู่สัญญามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญที่ใช้ในรถไฟความเร็วสูงโดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ให้แก่ รฟท. ภายในวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1 (2) โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา (Build-Operate-Transfer: BOT)
โดยเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญให้แก่ รฟท. แล้ว รฟท. จะส่งมอบสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ในวันที่เริ่มระยะเวลางานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(2) หากเอกชนคู่สัญญาดำเนินงานการออกแบบและงานก่อสร้าง หรือจัดหาทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญมาเพิ่มเติม รวมถึงงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟและทางเชื่อมกับอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ในทันทีที่มีการก่อสร้างเสร็จสิ้นและทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมใช้งาน โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และเอกชนคู่สัญญามีสิทธิใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง
(2) ทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญ เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุน ตลอดระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(1) และระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(2) เอกชนคู่สัญญามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญที่ใช้ในรถไฟความเร็วสูง โดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีครบระยะเวลาของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯโดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญาและเอกชนคู่สัญญา จะเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31.1
(ข) กรณีสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลาของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ โดย รฟท. จะชำระค่าตอบแทนให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2 โดยเอกชนคู่สัญญาจะเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31.1
7.2 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในแอร์พอร์ต เรลลิงค์
(1) ทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญ
ณ ขณะที่มีการให้สิทธิเอกชนร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ รฟท. มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญที่ใช้ในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ โดย รฟท. จะส่งมอบสิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้นให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อใช้สำหรับการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ
นอกจากนี้ หากเอกชนคู่สัญญาดำเนินงานการออกแบบและงานการก่อสร้าง หรือจัดหาทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญมาเพิ่มเติม รวมถึงงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟและทางเชื่อมกับอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่ เอกชนคู่สัญญา (Build-Operate-Transfer: BOT)
โดยเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญให้แก่ รฟท. แล้ว รฟท. จะส่งมอบสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ในวันที่เริ่มระยะเวลางานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2(1)(ข) หากเอกชนคู่สัญญาดำเนินงานการออกแบบและงานก่อสร้าง หรือจัดหาทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญมาเพิ่มเติม รวมถึงงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟและทางเชื่อมกับอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ในทันทีที่มีการก่อสร้างเสร็จสิ้นและทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมใช้งาน โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และเอกชนคู่สัญญามีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์
อ่านสัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินกันให้ดีนะครับ!