สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(16)

20 ก.ย. 2562 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2562 | 04:35 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-25 ..2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

ประวัติศาสตร์การประมูล(16)

 

          ผมลากพาทุกท่านมาติดตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน

          อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้

          สัญญาที่ติดขัดตรงไหน คือหัวใจที่เราเกาะติดในร่างสัญญามาถึง 15 ตอนแล้ว และจะพยายามนำเสนอให้เต็มที่เพื่อให้ทุกท่านได้ร่วมกันติดตามโครงการที่จะพลิกเมืองของประเทศไทย

          อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพาทุกท่านไปติดตามตอนต่อไป ผมขออนุญาตเบรกสาระสัญญาไว้แป๊บนึง เพราะผมได้รับหนังสือชี้แจงจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ภายหลังจากที่ผมได้นำเสนอข่าวในรายการ Newsroom : ห้องข่าวเศรษฐกิจ ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 เมื่อวันอังคารที่ 3 กันยายน 2562 ในประเด็น “ลึก แต่ไม่ลับ” ฉบับย่อ ตามล่ารถไฟ 3 สนามบิน ความดังนี้..

          การส่งมอบที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น โครงการนี้มีระยะทาง 220 กม. ระหว่างทางมีสิ่งกีดขวางและระบบสาธารณูปโภคมากมาย ดังนั้นภายหลังจากลงนามสัญญา เอกชนต้องสำรวจรายละเอียดที่จำเป็น เช่น ท่อส่งนํ้าประปา ท่อระบายนํ้า ท่อส่งนํ้ามัน และท่อส่งก๊าซ รวมถึงออกแบบโครงสร้างทางรถไฟต้องหลบหลีกให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และการรื้อย้ายมีขั้นตอน และระยะเวลาต่างกัน ขึ้นกับความยากง่ายของสาธารณูปโภคนั้นๆ

          ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภายหลังลงนามสัญญาร่วมลงทุน รฟท.และเอกชน ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมการจนเป็นที่แน่ใจว่าพื้นที่มีความพร้อม รฟท.จึงจะออกหนังสือเริ่มงาน (Notoce to Proceed : NTP) ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้

          ข้อดีของแนวทางนี้ จะลดปัญหาข้อพิพาทของคู่สัญญา ซึ่งต่างจากโครงการอื่นที่ภายหลังลงนามสัญญาก็เร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างทันที และเมื่อรัฐไม่พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่ทันก็จะมีปัญหาและข้อพิพาทตามมา

          เรื่องต่อมาคือ ระยะเวลาของโครงการ ภายหลังการลงนามสัญญาแล้ว คณะกรรมการนโยบายอีอีซี จะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสัญญาซึ่งจะดูแลและเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยการดำเนินการส่งมอบพื้นที่จะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเตรียมงานก่อสร้างทั้งหมดภายใน 2 ปี (ปี 2564) นับจากลงนามสัญญาซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2567-2568

          ผมไม่ต้องอธิบายอะไร ท่านก็สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่า รอบคอบ รัดกุม แค่ไหน ช่องโหว่ ช่องว่าง เป็นอย่างไร

          คราวนี้มาดูสาระสัญญาในกรณีที่ปรึกษาตรวจสอบเห็นว่าการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง  และแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย  ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน  รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟที่ปรึกษาตรวจสอบจะดำเนินการดังต่อไปนี้ รถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ซึ่งผมนำเสนอข้อ ก.ข้อ ข.ไปแล้ว มาดูข้ออื่นกันต่อ

          ค) เอกชนคู่สัญญาจะต้องแก้ไขการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายให้ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน  รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟภายในระยะเวลาที่ที่ปรึกษาตรวจสอบกำหนด โดยจะต้องส่งรายงานและหลักฐานการแก้ไขดังกล่าวให้ รฟท. ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและที่ปรึกษาตรวจสอบ

          (ง) การออกหนังสือเพื่อรับรองความแล้วเสร็จของการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย (ไม่รวมถึงงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ)

          1) เมื่อเอกชนคู่สัญญาพิจารณาเห็นว่าได้ดำเนินงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรืองานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายจนแล้วเสร็จ ตลอดจนทำการทดสอบทั้งหมดที่จำเป็นต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  และเห็นว่างานดังกล่าวพร้อมที่จะเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟแล้ว เอกชนคู่สัญญาจะต้องแจ้งให้ รฟท. ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและที่ปรึกษาตรวจสอบทราบถึงความแล้วเสร็จของงานดังกล่าว  และให้ที่ปรึกษาตรวจสอบเข้าตรวจสอบและทดสอบว่าการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายหาก รฟท. เห็นว่าเอกชนคู่สัญญาได้ดำเนินงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย จนแล้วเสร็จและพร้อมที่จะเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟแล้ว รฟท. อาจกำหนดให้ที่ปรึกษาตรวจสอบเข้าตรวจสอบและทดสอบว่าการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟก็ได้

          2) ภายในสี่สิบห้า (45) วัน นับแต่ได้รับแจ้งดังกล่าว  ที่ปรึกษาตรวจสอบจะต้องทำการตรวจสอบและยืนยันให้แก่ รฟท. เพื่อรับรองว่าเอกชนคู่สัญญาได้ทำงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรืองานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย แล้วเสร็จครบถ้วน  และงานดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบทั้งหมดที่จำเป็นตามกำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และมีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนดังกล่าว  พร้อมส่งสำเนาให้กับเอกชนคู่สัญญาซึ่ง รฟท.  จะดำเนินการดังต่อไปนี้

          ก) กรณีที่งานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ผ่านการทดสอบทั้งหมด หาก รฟท. ได้ออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟให้แก่เอกชนคู่สัญญาแล้ว  และหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายให้แก่เอกชนคู่สัญญาแล้ว รฟท. จะออกหนังสือรับรองเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบให้เอกชนคู่สัญญา  โดยไม่ชักช้า

          ข) กรณีงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ผ่านการทดสอบทั้งหมด หาก รฟท. ได้ออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟแล้ว รฟท. จะออกหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ให้เอกชนคู่สัญญา โดยไม่ชักช้า

          3) กรณีที่ปรึกษาตรวจสอบเห็นว่า เอกชนคู่สัญญายังดำเนินงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรืองานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย  ไม่แล้วเสร็จ  หรือยังไม่ได้ดำเนินการทดสอบทั้งหมดที่จำเป็นตามที่จำเป็นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึง ข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ที่ปรึกษาตรวจสอบจะแจ้งให้ รฟท. ทราบพร้อมส่งสำเนาให้กับเอกชนคู่สัญญาและเอกชนคู่สัญญาจะต้องเร่งดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ หรือทำการทดสอบทั้งหมดที่จำเป็นและแจ้งให้ รฟท. และที่ปรึกษาตรวจสอบทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

          ทั้งนี้ ที่ปรึกษาตรวจสอบจะตรวจสอบความแล้วเสร็จของงานดังกล่าวภายในสี่สิบห้า (45) วัน  นับแต่ได้รับแจ้งจากเอกชนคู่สัญญาและยืนยันแก่ รฟท. ว่าเอกชนคู่สัญญาได้ดำเนินงานในระยะที่ 1 ดังกล่าวครบถ้วนหรือได้ทำการทดสอบตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว  จะต้องทำการตรวจสอบให้แล้วเสร็จและยืนยันไปยัง รฟท. ภายในสี่สิบห้า (45) วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเอกชนคู่สัญญา  และ รฟท.  จะดำเนินการออกหนังสือรับรองโดยนำข้อ 15.1(1)(ง)2)  มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

          มาติดตามกันต่อนะครับ...ขอบอกว่า มีที่นี่ที่เดียว!

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (15)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (14)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (13)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (12)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (11)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (10)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (9)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (8)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (7)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (6)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (5)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (4)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (3)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (2)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (1)