วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหารือเต็มคณะกับ นายหลี่ เค่อเฉียง (H.E. Mr. Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้นำทั้ง 2 ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้น นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนหารือข้อราชการเต็มคณะ ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือข้อราชการเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีโดยฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
สำหรับคณะรัฐมนตรีฝ่ายจีน ประกอบด้วย นายเซียว เจี๋ย มนตรีแห่งรัฐและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายหลิว คุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจาง หย่ง รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ นายเล่อ ยู่เฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายหลี่ว เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนายหยู เจี้ยนหัว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองผู้แทนการค้าระหว่างประเทศ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการเต็มคณะ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 3 ฉบับ และร่วมกันแถลงข่าว ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่ได้ต้อนรับ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 6 ปีของนายกรัฐมนตรีจีนซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน พร้อมขอบคุณรัฐบาลจีนที่สนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทย
ทั้งสองฝ่ายยินดีกับพัฒนาการความความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างกันซึ่งมีพลวัต และมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีกมากโดยทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันรับมือกับการผันแปรของเศรษฐกิจโลก
ด้านเศรษฐกิจ ไทยและจีนเห็นพ้องการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดการผสานความร่วมมือกันอย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทยซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 และการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย กับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (GBA) รวมถึงข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวฝากให้นายกรัฐมนตรีจีนช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในจีนและดูแลเรื่องสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา
นอกจากนี้ ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนที่ยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จในการขจัดความยากจน โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนการศึกษา ในประเด็นที่ฝ่ายไทยประสงค์จะเรียนรู้จากจีน
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะและอื่นๆเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นายกรัฐมนตรีหวังที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควัน PM 2.5 จากจีนด้วย
ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ด้านต่างๆรวม 4 ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่ 1 เป็นหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับคณะกรรมการบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะลงนามโดยกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่มอบหมายให้ ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ร่วมกับฝ่ายจีน
สาระสำคัญ คือ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันเสริมสร้าง ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และขยายความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกันภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของแต่ละประเทศ และพันธสัญญาที่ทั้งสองประเทศได้ทำร่วมกัน
โดยรูปแบบของความร่วมมือ เช่น ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศและข้อมูลทางเทคนิค และผลงานวิจัยพัฒนาการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เทคนิค การจัดสัมมนา การประชุม และการฝึกอบรมร่วมกัน ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดทำร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารที่จะนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศในอนาคต
ฉบับที่ 2 เป็นบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรัฐบาลไทยมอบหมายให้ นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย
สาระสำคัญของเอ็มโอยูฉบับนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมบนหลักของการต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ข้อริเริ่มเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีความร่วมมือใน 11 สาขา ได้แก่ 1.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2.เทคโนโลยีการเกษตร 3.เทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4.เทคโนโลยีพลังงาน 5.เทคโนโลยีวัสดุและการผลิต 6.เทคโนโลยียานยนต์และรถไฟความเร็วสูง 7.เทคโนโลยีการบินและอวกาศ 8.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม 9.การถ่ายทอดเทคโนโลยี 10.โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีพรสวรรค์ และ 11. สาขาอื่น ๆ ซึ่งอาจเห็นพ้องร่วมกัน
และครอบคลุมขอบเขตความร่วมมือ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การวิจัยและพัฒนาร่วม 2. การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการ และนักวิจัย 3.การแลกเปลี่ยนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และประสบการณ์ความเป็นผู้ประกอบการ 4. การประชุมทางวิชาการ หลักสูตร การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา การฝึกอบรม การฝึกงานวิจัยและการดูงานของกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน และ 5.รูปแบบอื่นๆซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตัดสินร่วมกัน
ฉบับที่ 3 เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงนาม
วัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการอบรมการยกระดับการพัฒนานโยบายอุตสาหกรรมสำหรับประเทศในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Training on Enhancement of Industrial Policy Development for Lancang-Mekong Countries) ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Special Fund) ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) จำนวนเงิน 450,000 หยวน หรือประมาณ 2 ล้านบาท
โครงการฯนี้ เป็นการอบรมเจ้าหน้าที่/ข้าราชการระดับกลางจากประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เนื้อหาการอบรมที่สำคัญ เช่น สถานะด้านอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ แนวทางส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น และจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ฉบับที่ 4 เป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับ รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ที่ให้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี เป็นผู้ลงนามของฝ่ายไทย
สาระสำคัญ เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับมณฑลกวางตุ้งและเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ความร่วมมือในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์