ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

04 พ.ค. 2563 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2563 | 04:15 น.

เป็นข่าวเศร้าในวงการโรงแรมไทยกับการจากไปของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้บุกเบิกโรงแรม "ดุสิตธานี" เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ยังเป็นหญิงเหล็กผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย เมื่อเย็นวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ด้วยวัย 99 ปี โดยมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม ณ  ศาลา100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร 

ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการท่องเที่ยวไทย  "ฐานเศรษฐกิจ" จึงหยิบยกประวัติขึ้นมาเขียนอีกครั้ง นับตั้งแต่“ท่านผู้หญิงชนัตถ์”  เป็นผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี ที่ถือเป็นโรงแรมห้าดาวแห่งแรกของไทย สัญลักษณ์แลนด์มาร์ก หัวมุมถนนสีลม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อถอนเพื่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสที่ทันสมัย มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดบริการอีกครั้งใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้คุ้มค่ากับราคาที่ดินใจกลางเมืองและรับการลงทุนที่เปลี่ยนไป
ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

ขึ้นแท่นพัฒนาท่องเที่ยว-โรงแรมระดับโลก

นอกจากจะเป็นผู้สร้างตำนานโรงแรมไทยแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หรือขณะวัย 97 ปี ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ยังได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็นบุคคลเกียรติยศผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและโรงแรมโลก โดยเป็นสุภาพสตรีหนึ่งเดียวที่ขึ้นทำเนียบเทียบชั้นตำนานผู้ยิ่งใหญ่ของวงการอย่าง “เอเดรียน เซก้า” เจ้าของเครือโรงแรม Aman Resorts ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมโรงแรมในเอเชีย,  “เซอร์ไมเคิล คาดูรี” ผู้ก่อตั้งโรงแรมเพนนินซูล่า อายุเก่าแก่ 100 ปี และ “โรเบิร์ต ก๊วก”  แห่งเครือแชงกรี-ลา

 

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

โดยสถาบันการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมชั้นนำของโลก “ฮ่องกง โพลีเทคนิค ยูนิเวอร์ซิตี้” มอบรางวัลทรงเกียรติ “SHTM Lifetime Achievement Award 2018”  ซึ่งถือเป็นรางวัล เกียรติยศให้เฉพาะบุคคลที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับโลก ซึ่งเท่ากับท่านผู้หญิงเป็นทั้งตำนานและผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ประสบความสำเร็จ 

โดยจุดเริ่มต้นของ โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพฯ เกิดจากแรงบันดาลใจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ สมัยเรียนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับเมืองไทยได้ขับรถตระเวนท่องเที่ยวและพักตามโมเต็ลต่าง ๆ ทำให้คิดว่าธุรกิจโรงแรมคงเป็นอาชีพอิสระ เพราะเวลาไปพักแต่ละแห่งไม่เคยพบเจ้าของโรงแรมหรือผู้จัดการเลย 

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

ด้วยเป็นคนที่ชอบความอิสระ กลับมาเมืองไทยจึงเริ่มทำโรงแรมเล็ก ๆ ชื่อ “ปริ๊นเซส” 60 ห้อง ที่ปากตรอกโอเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง เมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว จึงทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำธุรกิจโรงแรม เพราะยังมีบกพร่องอีกมาก จึงคิดจะสร้างโรงแรมที่สมบูรณ์แบบ

 ทุนน้อยฝ่าฟันสร้างโรงแรม 5 ดาวจนสำเร็จ 

แต่การคิดการใหญ่ก่อสร้างโรงแรมดุสิตธานี จำนวน 500 ห้องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาทเท่านั้น แต่การประเมินค่าก่อสร้างและอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 450 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้มากเกือบเท่าตัว แต่ท่านผู้หญิงก็ได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาเสียเอง

โดยจ้างผู้รับเหมารายย่อย  เพื่อประหยัดงบทุกด้าน แม้กระทั่งการเตรียมนำที่ดินและบ้านมาจำนอง เพื่อหาทางช่วยบริษัทรวมถึงการสร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่า เพื่อให้เป็นลูกค้าโรงแรม และคิดค่าเช่าถูกกว่าธรรมดา เพื่อขอค่าเช่าล่วงหน้าหรือ 2 ปี เอามาช่วยโรงแรมอีกทางหนึ่ง เป็นต้น

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 
สมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาสร้างโรงแรมใหญ่โตหรูหรา อีกทั้งการออกแบบก็แตกต่างจากโรงแรมทั่วไป โดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นไทย  ตึกทรงสามเหลี่ยมสูง 23 ชั้น ตัวอาคารหลักมีผังเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายตัด ตั้งบนฐานสามเหลี่ยมลดหลั่นสอบเข้าทีละชั้น และบนยอดแต่งกรวยปลายแหลมเรียวคล้ายยอดเจดีย์ ได้แรงบันดาลใจจากยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งยังเป็นความภาคภูมิใจของคนดุสิตธานี ที่แม้จะสร้างใหม่ก็ยังต้องนำเอกลักษณ์ต่าง ๆ ไปอยู่ในตัวโรงแรมใหม่ด้วย 

ที่มาชื่อ “ดุสิตธานี” เอกลักษณ์ความเป็นไทยหัวมุมถนนสีลม

ขณะที่ที่มาของชื่อ “ดุสิต” เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4 ซึ่งช่วงที่จดทะเบียนตั้งบริษัท มีการแนะนำให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แต่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ก็ไม่ยอม เพราะคิดว่าเป็นโรงแรมของคนไทย และตั้งอยู่ในประเทศไทย ควรใช้ชื่อไทย การออกเสียงไพเราะ มีความหมาย และชื่อเป็นมงคล 

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

ระหว่างสักการะพระบรมรูปล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ที่ลานหน้าสวนลุมพินี เพื่อขอพระราชทานอภัยที่ต้องรื้ออาคารเก่าบ้านศาลาแดง ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ราชเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 

ท่านผู้หญิงได้ นึกถึงคำว่า “ดุสิตธานี” จึงอธิษฐานขอพระบรมราชานุญาตนำมาตั้งเป็นชื่อโรงแรม โดยดุสิตธานีเป็นเมืองประชาธิปไตย ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้จำลองขึ้น เมื่อปี 2461 ตั้งอยู่ในพระราชวังพญาไท และ “ดุสิต” ยังเป็นชื่อสวรรค์ชั้น 4 ตามคติความเชื่อทางศาสนาของคนไทย เมื่อครั้งสร้างเสร็จยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จฯมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

โรงแรมดุสิตธานีเปิดบริการเมื่อปี 2513 ช่วง 2 ปีแรก ได้เชนโรงแรม WIH (Western International Hotels) เข้ามาบริหาร หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือฟอร์จูนได้ลงว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรม 1 ใน 10 ของโลก ที่มีที่ตั้งและสิ่งแวดล้อมที่ดี การออกแบบตกแต่งและมีการบริการที่ดี 
 

ทำงานกระทั่งอายุ  84 ปี ถึงวางมือ

หลังจากยกเลิกการบริหารของ WIH นโยบายการบริหารของท่านผู้หญิงชนัตถ์ จึงเข้าไปดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง และนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดของไทยมาอวดชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้ ร้อยพวงมาลัย อาหารคาวหวาน พนักงานหญิงแต่งชุดผ้าไหมไทย เพื่อให้เห็นศิลปวัฒนธรรมไทยและความอ่อนช้อยของสตรีไทย จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

อดีตที่ผ่านมาโรงแรมดุสิตธานี เจอมรสุมมาหลายครั้ง  ตั้งแต่เหตุการณ์สไตรก์ครั้งใหญ่ จนต้องปิดโรงแรมไปเดือนเศษ และท่านผู้หญิงมักพูดเสมอว่า "อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นเรื่องที่อ่อนไหวง่าย" เมื่อมีเหตุการณ์มากระทบ ที่ผ่านมา “ท่านผู้หญิงชนัตถ์” จึงเป็นเสมือนหญิงเหล็กของวงการโรงแรมไทย ในการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย และยังเป็นทั้งอดีตสมาชิกวุฒิสภา 

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่คอยเป็นปากเป็นเสียงต่อภาครัฐในฐานะคนโรงแรม  การบุกเบิกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปทั่วโลก และดุสิตธานีก็เป็นเสมือนสถาบันชั้นดี ที่สร้างบุคลากรมากมายในวงการท่องเที่ยวและโรงแรมไทย ปัจจุบันดุสิตธานีมีเครือข่ายโรงแรม 34 แห่งใน 13 ประเทศ ทั้งที่เป็นเจ้าของและรับจ้างบริหาร ถึงการการแตกไลน์ธุรกิจที่ต่อเนื่อง และอสังหาริมทรัพย์ 

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์  ปิยะอุย” 

อย่างไรก็ดี แม้จะส่งไม้ต่อให้ทายาทคนโต “ชนินทธ์ โทณวณิก” เข้ามาสานงานต่อ เมื่อปี 2525 แล้วก็ตาม แต่ท่านผู้หญิงก็ยังทำงานมาตลอดกระทั่งวัย 84 ปี ถึงได้วางมือ  จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โรงแรมดุสิตธานีได้ปิดฉากหลังจากให้บริการมาครึ่งศตวรรษ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 ลงเพื่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ และวันนี้ตำนานผู้ก่อตั้งก็ได้ปิดฉากลงเช่นกัน 
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

7 อัตลักษณ์ จิตวิญญาณ "ดุสิตธานี" สร้างตำนานใหม่มิกซ์ยูส 3.6 หมื่นล้าน

                

หมายเหตุ : อ้างอิง หนังสือ “คนแก่อยู่กับความหลัง” เขียนโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ปี  2535