โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 353 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท มีความล่าช้ามา กว่า 60 ปี ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2503 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาเส้นทาง ส่งผลให้จังหวะนั้นมีนายทุนนักเก็งกำไร จำนวนไม่น้อย กว้านซื้อที่ดินรอบสถานี รอพัฒนาต่างเจ็บตัวไปตามๆ ขณะเดียวกันยังมีคนอีกกลุ่มได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนมาตั้งแต่ปี 2510 และต่ออายุพ.ร.ฎ.เรื่อยมา ทำให้ไม่สามารถขยับขยาย กิจการได้เพราะเกรงว่าหากวันใดเกิดการเวนคืน เท่ากับเสียเงินลงทุนไป แม้จะได้ค่าชดเชยแต่มองว่าไม่คุ้มกับธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย
ทางออก กลุ่มภาคเอกชนใน 4 จังหวัดภาคเหนือ จึงเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.เร่งออกพ.ร.ฎ.เวนคืน ตามแผนพร้อมทั้งเปิดประมูลภายในปีนี้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินสามารถนำที่ดินส่วนที่เหลือขายต่อ หรือปรับรูปแบบกิจการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ไปพร้อมๆ กับเส้นทางรถไฟสายนี้ต่อไป
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนตลอดแนวรถไฟสายใหม่นี้ ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างกว่า 1,200 หลังคาเรือน ที่ดิน 7,292 แปลง เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 9,661 ไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ตลอดแนวมีเขตทางกว้าง 50 เมตร
นาย บุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์SME ไทย รองประธานและเลขาธิการ สมาพันธ์SME ไทยภาคเหนือ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถนำที่ดินของตนเอง ต่อยอดทำธุรกิจหรือขายต่อได้ ทำให้เสียโอกาสทางการค้า
อย่างไรก็ตาม เอกชนต้องการให้รัฐเร่งผลักดันรถไฟเส้นนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า เมื่อรถไฟตัดผ่านทำให้ความเจริญกระจายเข้าสู่ในพื้นที่
ด้านนายพรเทพ อินทะชัย ประธานอาวุโสหอการค้า จังหวัดเชียงราย และกรรมการสภาหอการค้าไทย สะท้อนว่า เอกชนในจังหวัดเชียงรายต้องการให้ รถไฟเส้นนี้เดินหน้าโดยเร็ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้า การค้าขาย กับ สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ ให้ข้ามมายังท่าเรือแหลมฉบัง เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีได้ แม้ว่าไทยจะล่าช้ามาเกือบ 100 ปี แต่มองว่า ยังไม่สายสำหรับผลกระทบจากการเวนคืน ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง กับกลุ่มที่เข้าไปหาประโยชน์จากค่าเวนคืนรัฐ ซึ่งคนกลุ่มนี้หากทราบว่าจะมีการเวนคืน ก็ไปซื้อที่ดินในแนวเขตทางในราคาถูกต่อจากชาวบ้าน เพื่อให้ได้ค่าชดเชยในราคาสูง เพราะที่ดินปัจจุบันขยับจากไร่ละหลักหมื่น เป็น 8 แสนจนถึงหลักล้าน ส่วนที่ดินที่เหลือ รอปรับรูปแบบการลงทุน ให้สอดคล้องกับการเดินรถ นั่นคือ ศูนย์กระจายสินค้า และการท่องเที่ยว หรือนำไปขายต่อในราคาที่สูง อย่างไรก็ตามมั่นใจว่ารฟท. จะดำเนินโครงการตามแผนและแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รฟท. ระบุว่าขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างการทำสัญญาจัดจ้างที่ปรึกษาเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเริ่มลงนามกลางปี 2563 เนื่องจาก พ.ร.ฎ. เวนคืนจะประกาศใช้กลางปีนี้ ใช้เวลาเวนคืน 1 ปี และปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เตรียมจ้างผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้าง
หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563