วันแรกของการพิจารณา พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านของรัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
นายสมพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายยืนยันว่า พรรคฝ่ายค้านไม่ขัดข้องกับการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องใช้เงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถูกต้อง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เห็นว่า รัฐบาลบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผิดพลาด ไม่สามารถสร้างสมดุลรวมถึงประคับประคองเศรษฐกิจได้ รัฐบาลล้มเหลวด้านการเยียวยาและกอบกู้เศรษฐกิจ การช่วยเหลือประชาชนเพื่อเยียวยาผลกระทบนั้น เสนอให้ใช้การเยียวยาแบบถ้วนหน้า เพราะการคัดกรองกลั่นกรองจะทำให้เกิดปัญหาเชิงปฏิบัติ ไม่ครอบคลุม ผู้ที่เดือดร้อนไม่ได้รับประโยชน์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช้เพื่อเป็นแหล่งทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของการใช้เงินกู้ ตาม พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทซึ่งแบ่งการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน รวมถึงบุคคลใดจะได้รับประโยชน์ ให้กับ ส.ส.และประชาชนรับทราบด้วย
เช่นเดียวกัน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายโดยเปลี่ยนชื่อ “พรก.เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล เป็น “พรก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน2020” ก่อนตั้งข้อสังเกตการออก พรก.เงินกู้ฉบับนี้ได้ข้ามขั้นตอนไปหลายขั้นตอนโดยเฉพาะรายละเอียดและการสำรวจงบประมาณที่มีอยู่ และการกู้เงินจำนวนมากเกินไป มีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่เพราะยังไม่มีรายละเอียดและเปิดให้กรอบการกู้เงินยาวไปจนถึงช่วงเดือนกันยายน 2564 ทั้งยังไม่มีการชะลอโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้ออาวุธ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือ การชะลอโครงการในงบประมาณปี 2563 และการปรับงบประมาณปี 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่มาตรการปิดประเทศ หรือ ล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างได้ผลแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง รัฐบาลมีหน้าที่ในการเยียวยา ขณะที่เครื่องมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ด้านก็ไม่ดีนัก ทั้งเรื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง ซึ่งทั้ง 4 ด้านมีแนวโน้มติดลบ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นซึ่งล้วนมาจากเงินกู้ทั้งสิ้น การออก พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้ทำให้เหลือเพดานการก่อหนี้สาธารณะได้ไม่เกิน 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น วงเงินกู้ดังกล่าวจึงถือเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายของประเทศในการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจให้สำเร็จ รวมถึงการกู้เงินเพื่อชดเชยการขดดุลงบประมาณปี 64 อีก ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 55 % จากเพดานที่ไม่ควรเกิน 60%หากฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่สำเร็จก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีพีดีเพิ่มขึ้นและจะเหลือไปยังคนรุ่นหลัง
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการให้ฝ่ายค้านเห็นด้วยต้องทำอย่างน้อย 3 เงื่อนไข คือ 1.สนับสนุนให้ตัวแทนประชาชน หรือ ส.ส.มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว ภายใต้กลไกกรรมาธิการวิสามัญ 2.รายงานให้สภาฯรับทราบทุก 3 เดือน และ เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์
สำหรับตัวบุคคลที่พรรคฝ่ายค้านวางไว้ในการอภิปราย พรก.กู้เงิน 3 ฉบับนั้น ในวันแรกนี้จัดลำดับการอภิปรายโดยจะเริ่มด้วยภาพรวมของ พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท วางผู้อภิปรายไว้ 10 คน เริ่มจาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นคนแรกในการอภิปราย ต่อด้วย น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย จากนั้นจะเป็นส.ส.จากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย สำหรับสัดส่วนผู้อภิปรายของแต่ละพรรค คือ พรรคเพื่อไทย 54 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคเสรีรวมไทย 4 คน พรรคประชาชาติ 3 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน รวมถึง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่มีความประสงค์ที่จะร่วมอภิปรายโดยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยแบ่งเวลาจากโควตาของพรรคเพื่อไทย รวม 78 คน โดยการบริหารลำดับคิวจะหารือกันวันต่อวันเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ เนื้อหา และน้ำหนักที่ฝ่ายค้านต้องการมุ่งเน้น