การบริโภคเนื้อเทียมหรือโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant Based Meat Market) กำลังเป็นกระแสที่มาแรงในต่างประเทศรวมถึงในประเทศไทย จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่าในสหรัฐอเมริกา ยอดขายอาหารสำเร็จรูปของเนื้อเทียมจากพืชขยายตัวต่อเนื่อง ระหว่างปี 2556-2561 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 15.4% เทียบกับเนื้อแปรรูป (Processed Meat) ที่เติบโตเพียงปีละ 1.2% สอดคล้องกับข้อมูลของ NPD Group ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาที่ขายเบอร์เกอร์และแซนด์วิชเนื้อที่ทำจากพืชก็พบว่ายอดขายระหว่างเมษายน 2561-มีนาคม 2562 เพิ่มขึ้นถึง 7.8% มากสุดเป็นประวัติการณ์
การบริโภคเนื้อเทียม (โปรตีนจากถั่วเหลือง,โปรตีนจากข้าวสาลี,โปรตีนจากถั่วลันเตาและอื่นๆ ที่พัฒนารูปลักษณ์และรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์) มาจากกระแสด้านต่างๆ ที่กระทบต่อผู้บริโภคทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม คือ 1.รักษ์สุขภาพ : ต้องการลดการบริโภคเนื้อแดง (วัว หมู) เนื้อขาว (ไก่) เพื่อป้องกันการเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดตีบตันจากไขมันสัตว์ 2.ความปลอดภัยอาหาร : การรับรู้ข้อมูลการปนเปื้้อนเชื้อแบคทีเรียในอาหาร เช่น การปนเปื้อนแซลโมเนลลาในอาหารทะเล การใช้สารเคมีในการเลี้ยงสัตว์เช่น สารเร่งเนื้อแดงในหมู 3. การคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ : ลดการทรมานสัตว์จากการเลี้ยง การฆ่าในโรงเชือด และการบริโภค เช่น การลวกสัตว์นํ้าทั้งเป็นในนํ้าร้อน
4.ความยั่งยืนของอาหาร : ในเหตุการณ์ที่เกิดโรคระบาดสัตว์เช่น ไข้หวัดนก อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทำให้ต้องทำลายสัตว์ทิ้ง และการระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ที่ต้องปิดโรงเลี้ยงสัตว์และโรงงานผลิต ทำให้เกิดการขาดแคลนในตลาด ส่งผลราคาเนื้้อสัตว์พุ่งสูง 5.ใช้ประกอบอาหารง่ายและหลากหลายเมนู : ได้ทั้งอาหารไทย อิตาเลียน เวียดนาม อเมริกัน อินเดียน เช่น ไส้กรอก เบอร์เกอร์ นักเกต สเต็ก เนื้อบดชุบแป้งทอด
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ฉายภาพผู้ผลิตเนื้อเทียมในต่างประเทศว่า Beyond Meat เป็นบริษัทแรกที่ทำ Plant-based Meat หรือเนื้อไร้เนื้ออันดับแรก ๆ ก่อตั้งปี 2552 และมีสินค้าวางจำหน่ายเมื่อปี 2559 ขณะที่ Impossible Foods คู่แข่งรายสำคัญของ Beyond Meat บริษัทผู้ผลิตเนื้อจำลองสู่ตลาด ซึ่งตั้งอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ในแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ผลิต Impossible Burger ให้กับ Burger King ผู้เล่นรายใหญ่ใน ตลาดเบอร์เกอร์นั่นเอง
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
ส่วนในประเทศไทย มีสตาร์ตอัพ 2 ราย ที่ได้มีการพัฒนาเนื้อเทียม และผลิตออกจำหน่ายได้แก่ แบรนด์ MORE MEAT และแบรนด์ Meat Avatar ขณะที่มีบริษัท วีฟู้ดส์(ประเทศไทย) จำกัดได้นำเนื้อเทียมจาก MORE MEAT มาทำเป็นเมนูอาหารออกวางจำหน่าย นอกจากนี้มี “Let’s Plant Meat” โดย “นิธิฟู้ดส์” บริษัทผู้ผลิตเครื่องเทศ เครื่องปรุงรสชั้นนำ และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้าน อาหาร จากจังหวัดเชียงใหม่ ได้คิดค้นเนื้้อจากพืชขึ้นมา โดยผลิตออกมาในรูปของเบอร์เกอร์เนื้อจากพืชเจ้าแรกในไทย เพื่อตอบโจทย์ชาววีแกน (ผู้ไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์) และผู้บริโภคสายกรีนที่อยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อสุขภาพและ สิ่งแวดล้อม
“ตลาดเนื้อเทียมหรือโปรตีน ทางเลือกจากพืช มีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายคือ กลุ่มกินเจ กลุ่มวีแกน และกลุ่มมังสวิรัติรวมถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และศีลธรรม โดยไม่สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่ามารับประทาน และขณะนี้เริ่มมีการขยายเข้าไปในร้านอาหารชื่อดังต่างๆ เพื่อเป็นอาหารทางเลือกให้กับคนกลุ่มนี้”
ข้อมูลจาก future-food.dk รายงานว่า ในปี 2562 ตลาดเนื้อเทียมของโลกมีมูลค่าถึง 11.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.69 แสนล้านบาท และในปี 2563 คาดจะมีมูลค่า 12.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 4.01 แสนล้านบาท และในปี 2566 จะมีมูลค่าตลาด 16.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 5.23 แสนล้านบาท หรือขยายตัวมากกว่า 8-9% ต่อปี ส่วนในไทยยังไม่มีผลสำรวจมูลค่าตลาด แต่ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่กำลังขยายตัวและน่าจับตามอง
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563