หลังจากที่สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและรัฐบาลหลายประเทศเริ่ม ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านอาหาร-สถานบันเทิง บริการรถเช่า ฯลฯ เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งที่พึ่งพารายได้จาก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มากที่สุดก็กลับคืนสู่ความคึกคักแม้จะยังไม่เต็มที่มากนัก
ทั้งนี้ เนื่องจาก การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แบ่งการดำเนินการเป็นระยะ และยังไม่เปิดกว้างสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศมากนัก การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวในอาเซียน ณ ขณะนี้จึงยังต้องอาศัย นักท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นหลัก และอาศัยกลยุทธ์ด้านราคาเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างไทยและเวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อใหม่ภายในประเทศได้แล้ว ต่างก็เริ่ม ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ที่ใช้ในสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากยังไม่สามารถคาดหวังเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไปอีกระยะหนึ่ง ช่วงนี้โรงแรมและสายการบินต่าง ๆ จึงต้องอาศัยกลยุทธ์หั่นราคาดึงดูด นักท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นหลักเพื่อกระตุ้นความคึกคักให้กับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่ยอดการติดเชื้อใหม่ยังคงอยู่ในอัตราสูง เช่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ต่างก็พร้อมที่จะเปิดแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างเช่น เกาะบาหลี และเริ่มหันมาใช้มาตรการจูงใจนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง
“ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะ 3 เดือนจากนี้ เราคงจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้อีกต่อไป" อังคณา ธเนศวิเศษกุล ประธานสมาคมโรงแรมหาดกะตะ-กะรน ซึ่งมีโรงแรมในพื้นที่เป็นสมาชิกอยู่กว่า 40 ราย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สะท้อนภาพความยากลำบากที่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโรงแรมกำลังเผชิญอยู่ อังคณาคาดหมายว่า ในระยะ 2-3 เดือนแรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยวอาจจะกลับคืนมาเพียงราว ๆ 10 % เท่านั้น (เมื่อเทียบกับช่วงภาวะปกติ) ส่วนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้น คาดว่าคงยังไม่กลับมาจนกว่าจะเข้าช่วงปลายปีหรือช่วงหน้าหนาว
ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในย่านเมืองเก่า (Old Quarter)ที่ในภาวะปกติมักจะคราคร่ำไปด้วยผู้คน ตอนนี้บรรดาโรงแรมต่างพยายามสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูด นักท่องเที่ยวภายในประเทศ ให้เข้ามาใช้บริการ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศเช่นเมืองดานัง ชายหาดเริ่มปรากฏนักท่องเที่ยวกลับมาบ้างแล้ว แม้ในจำนวนไม่มากนัก ข่าวระบุว่าในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนักระหว่างเดือนม.ค.ถึง พ.ค.ที่ผ่านมานั้น รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเวียดนามดิ่งวูบลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
เป็นที่คาดหมายว่า เวียดนามอาจทำยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึงระดับ 8 ล้านคนในปีนี้ ถ้าหากรัฐบาลเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นในช่วงไตรมาส3 แต่พระเอกตัวจริงที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ให้กับการท่องเที่ยวของเวียดนามในปีนี้ ก็คือ นักท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 65 ล้านคน
โด ตรัน เฟือง ผู้จัดการบริษัท มายทราเวิล เวียดนาม ในกรุงฮานอย เปิดเผยว่า ตอนนี้ นักท่องเที่ยวภายในประเทศ ใช้เงินเพียง 2.7 ล้านด่อง (ประมาณ 116 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว ๆ 3,600 บาท ก็สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินและห้องพักในโรงแรมริมชายหาดได้ถึง 2 คืนเนื่องจากสายการบินและโรงแรมกำลังทำแคมเปญลดกระหน่ำราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สนนราคาดัวกล่าวถือว่าเป็นการลดราคามากกว่า 70% เมื่อเทียบกับราคาปกติก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ถามว่าลดขนาดนี้ กำรี้กำไรจะได้เท่าไหร่ โด ตรัน เฟือง ยอมรับว่า ราคาที่เสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวนั้น แทบจะไม่ได้กำไรเลย แต่ที่ลดราคาลงมากก็เพื่อหวังจะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาท่องเที่ยวและเริ่มกล้าที่จะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้งหนึ่งก่อน “ประชากรภายในประเทศจำนวนมากกว่า 90 ล้านคนนั้นเป็นตลาดมีศักยภาพที่ใหญ่มาก ๆ สำหรับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ไวรัสยังแพร่ระบาดอย่างมากในประเทศอื่น ๆ” ผู้จัดการบริษัททัวร์รายใหญ่ของกรุงฮานอยกล่าว
การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการป้องกันของประเทศต่าง ๆ ที่มีออกมารับมือเพื่อควบคุมพื้นที่การแพร่กระจายของไวรัส ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ก่อนเกิดโควิด-19 นั้น ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนต่างก็คาดหวังไว้สูงกับการทำรายได้จากการท่องเที่ยวเนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีแนวโน้มพุ่งขึ้นมาก แต่เมื่อโรคร้ายดังกล่าวอุบัติขึ้นและลุกลาม สถานการณ์ก็พลิกผันผิดไปจากแผนโดยสิ้นเชิง
บลูมเบิร์กยกตัวอย่างประเทศไทย ที่คาดว่าสถานการณ์อาจจะย่ำแย่ที่สุดเนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ในช่วงเวลาปกติ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานราว 8 ล้านคน ในปี 2563 นี้ รัฐบาลไทยคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 68% จากปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 12.7 ล้านคน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในภาพรวมอาจจะหดตัวลงราว 70% จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่
จากการระงับรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (international arrivals) เป็นการชั่วคราว อย่างน้อยจนถึงวันที่ 1 ก.ค.นี้ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยได้พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ทต่าง ๆ ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศไปพลาง ๆ โดยคาดหมายว่า อุปสงค์ภายในประเทศที่อัดอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์และกำลังถูกปลดปล่อยออกมาหลังจากที่รัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ เป็นลำดับ จะมีมากพอที่จะช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นจนกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะกลับมาช่วยเป็นปัจจัยหนุนอีกแรง
“ตอนนี้ทั้งเจ้าของและผู้บริหารโรงแรมจำเป็นต้องลุกขึ้นยืนให้ได้อีกครั้ง ทุกรายต่างก็ต้องการกระแสเงินสดหมุนเวียน ต่างเฝ้ารอคอยที่จะกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้ง” บิล บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษา ซี9 โฮเท็ลเวิร์คส์ จำกัด ในภูเก็ต กล่าวกับบลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ ตลาดหนึ่งที่จะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในภาวะฟื้นตัว ก็คือตลาดนักท่องเที่ยวรายได้สูง ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่างก็กำลังร่วมมือกันจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูง หรือนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ให้เข้ามายัง 2 พื้นที่เป้าหมายคือ ภูเก็ต และสมุย/พะงัน โดยจะส่งเสริมเป็นแพคเกจการท่องเที่ยวแบบ 1 เดือนขึ้นไป
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน นั้น การเดินทางและการท่องเที่ยวสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนราว 12.1% ของจีดีพีในปีที่ผ่านมา (2562) และเป็นแหล่งจ้างงาน 13.3% สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council) เปิดเผยเมื่อเดือนเม.ย.ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนมีการเติบโตในอัตรา 4.6% (ปี 2562) ซึ่งนับว่าโตมากกว่าอัตราเฉลี่ยของการท่องเที่ยวโลกในภาพรวมที่ขยายตัวเพียง 3.5% มาดูกันว่า ในช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์นี้ แต่ละประเทศอาเซียนกำลังทำอะไรกันบ้าง ตัวอย่างใน 3 ตลาดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่
ไทย กำลังจัดทำแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยในเบื้องต้นจะออกมา 2 แพคเกจ ได้แก่ “เที่ยวปันสุข” ที่จะให้เป็นบัตรกำนัลดิจิทัล ซัพพอร์ตส่วนต่างในการท่องเที่ยวข้ามจังหวัดในประเทศ โดยสามารถใช้เป็นส่วนลดในการเข้าพัก ร้านอาหาร หรือบริการอื่น ๆ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในสัปดาห์นี้ (12 มิ.ย.) และ “แพคเกจกำลังใจ” ที่เน้นชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เที่ยวฟรี เพื่อตอบแทนในการเป็นด่านหน้ารับมือกับโรคระบาด
ส่วนการกระตุ้นตลาดต่างชาติ ไทยกำลังมีแผนจับคู่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือ “ทราเวล บับเบิล” (Travel Bubble) กับประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย แต่ขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนในส่วนของมาตรการด้านสาธารณสุขก่อน ว่าจะมีแนวคิดอย่างไรในการผ่อนปรนและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อนำเงื่อนไขทั้งหมดไปหารือกับประเทศที่จะทำ “ทราเวล บับเบิล” กัน เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อมีการเดินทางเข้ามาของต่างชาติแล้ว จะไม่มีการกลับมาแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอก 2
อินโดนีเซีย เตรียมเปิดแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต เช่น เกาะบาหลี โดยกำหนดเปิดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศในเดือนหน้า (ก.ค.) ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นคาดหมายว่าจะเริ่มกลับมาในเดือนก.ย. นี้
เวียดนาม ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเริ่มส่งข้อความผ่านระบบโทรศัพท์มือถือชักชวนให้ประชาชนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการท่องเที่ยว โดยมีการเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว “คนเวียดนามเที่ยวเวียดนาม” หรือ “Vietnamese travel in Vietnam” ซึ่งมีการให้ส่วนลดต่าง ๆ รวมทั้งการให้เข้าชมฟรีสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง นอกจากนี้ ยังระดมให้สายการบิน บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดทำแพคเกจท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจ ยกตัวอย่าง รีสอร์ทและสวนสนุกทั้งหมดในเครือซัน กรุ๊ป ให้ส่วนลดถึง 60 % เป็นต้น
“ตอนนี้ เราหันพึ่งนักท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก โดยหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะดีขึ้นในช่วงปลายปีเมื่อผู้คนเริ่มรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวกัน” เหงียน ธู ฮัง ผู้จัดการโรงแรมระดับ 3 ดาวในกรุงฮานอยให้ความเห็น “เราใช้เวลาในช่วงนี้ถือโอกาสปรับปรุงที่พักไปด้วยในตัว เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น เมื่อเวียดนามเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
การเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศไปก่อนในช่วงเวลานี้ จะเป็นเหมือนกับ “บททดสอบ” ให้ผู้ประกอบการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวของอาเซียนได้ใช้ประเมินตัวเองและเตรียมความพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะกลับคืนมาหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แนวโน้มหลายอย่างที่คาดว่าจะได้เห็นมากขึ้นได้แก่ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัล รวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพ-วัดอุณหภูมินักท่องเที่ยวก่อนการเข้าพักหรือเข้าใช้บริการ
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า สถานฟิตเนส จะต้องเตรียมการ เช่น การจัดสถานที่ให้สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรค เช่นการจัดวางอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย หรือการจัดโต๊ะบุฟเฟต์ ให้มีระยะห่างที่ปลอดภัย เป็นต้น บททดสอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการด้านการโรงแรมและท่องเที่ยวในอาเซียนจะต้องเรียนรู้และผ่านพ้นไปให้ได้ เพราะหนทางการฟื้นตัวสู่ภาวะปกตินั้น ยังคงอีกยาวไกล
อ่านเพิ่มเติม
เช็กที่นี่ “เที่ยวปันสุข” ใครได้ใช้สิทธิ์บ้าง
ข้อมูลอ้างอิง
Cheap Beach Holidays Target Locals as Airlines Remain Grounded