จังหวัดแพร่เตรียมให้กรมศิลปากรเข้าร่วมการฟื้นฟูเรือนบอมเบย์เบอร์มาหรืออาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แพร่ ที่ถูกรื้อถอนลงทั้งหลัง พร้อมดึงท้องถิ่น-ช่างพื้นบ้านรวมพลังประกอบขึ้นใหม่ใต้หลักการ "5 คง"ให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด กรมอุทยานฯลั่นพร้อมหนุนทรัพยากรทุกอย่าง
ที่ห้องประชุมจดหมายเหตุ ศาลากลางจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่ในการชี้แจง กรณีการรื้อถอนอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ หรืออาคารบอมเบย์เบอร์มา ในอดีต ที่สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งได้ของบประมาณจากจังหวัดแพร่มาดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร โดยมีนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช นายโชคดี อมรวัฒน์ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันชี้แจงและตอบข้อซักถามของประชาชนชาวจังหวัดแพร่
ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ ประกอบด้วย นายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่าย นายพัฒนา แสงเรือง ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชนในจังหวัดแพร่ร่วมกันซักถามข้อสงสัย ว่าทำไมมีการทุบทิ้ง ผู้เกี่ยวข้องทำการตอบข้อสงสัย ทั้งที่ชัดเจนและไม่ชัดเจน
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ได้หารือกับทางกรมศิลปากร ในเรื่องของการฟื้นฟูสภาพอาคารให้กลับมา เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ได้สบายใจ โดยจังหวัดแพร่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการติดตามการดำเนินการฟื้นฟูสภาพอาคาร ทางกรมศิลปากรจะเข้ามาช่วยเหลือดำเนินการ
ด้านนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่า อาคารดังกล่าวอยู่ในระหว่างขอความเห็นชอบ ยังไม่มีการส่งแบบใดๆ มา อย่างไรก็ตามความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น ถ้ายังอยู่ภายใต้หลักการ 5 ข้อนี้ก็สามารถได้อาคารที่ใกล้เคียงกลับมาได้คือ ที่ตั้งคงเดิม วัสดุ ซึ่งเน้นเป็นวัสดุเดิมไม้เดิมให้ได้มากที่สุด ความจริงแท้ในเชิงช่างเทคนิค การก่อสร้าง อาจจะเป็นการดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น ทำงานร่วมกัน เพราะบางอย่าง กรมศิลป์ก็ขาดความรู้ เช่นการเข้าไม้ด้วยการเข้าสลัก ต้องรักษาช่างฝีมือไว้ เชิงรูปแบบ ต้องนำมาประกอบใกล้เคียงแบบเดิมที่สุด เรายังใช้พื้นที่แบบเดิม ได้หรือไม่ ตามจิตวิญญาณเดิมคือ วัตถุประสงค์เดิมในการใช้อาคารตามฟังก์ชั่นเดิม ถ้ารักษา 5 ข้อนี้ได้ ก็สามารถฟื้นคืนอาคารมาได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียง
ด้านนายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ กล่าวว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น กรมอุทยานฯ เป็นเจ้าของเรื่องและเจ้าของพื้นที่ คงไม่อาจหลีกเลี่ยงในกระบวนการที่เกิดขึ้นและจะเป็นเจ้าภาพในเรื่องของงบประมาณ เพื่อเยียวยาในทุกเรื่องและสนับสนุนกรมศิลปากรในการดำเนินการฟื้นฟูอาคารแห่งนี้ หากกรมศิลป์ขาดเหลือวัสดุอะไรก็จะหามาสนับสนุน เพื่อความสบายใจ ของชาวจังหวัดแพร่
นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการดำเนินการในเรื่องของไม้ที่รื้อออกมาโดยจัดเก็บแยกชิ้นส่วนต่างๆ ไว้ และติดกล้อง CCTV โดยรอบพื้นที่ และมีการตั้งเวร ยาม เข้าดูแลไม้ทั้งหมดไว้ เพื่อนำกลับมาสร้างฟื้นฟูสภาพอาคารตามที่กรมศิลปากรจะได้มาดูแลในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ ก็จะได้ติดตามการดำเนินการฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ หรืออาคารบอมเบย์เบอร์มา ในอดีต ให้กลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่อาคารเดิมที่มีผลต่อจิตใจและประวัติศาสตร์เช่นในอดีตก็ตาม