IMFคาดโควิดฟาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 4.9% ไทยลบ 7.7%หนักสุดในอาเซียน

25 มิ.ย. 2563 | 01:16 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2563 | 08:53 น.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงาน แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับเดือนมิ.ย. 2563 วานนี้ (24 มิ.ย.) วิเคราะห์แนวโน้ม จีดีพีโลกหดตัว ในปีนี้ที่ 4.9 % จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนประมาณการเศรษฐกิจของไทยนั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะหดตัวที่อัตรา 7.7% ในปีนี้ ซึ่งเป็นจีดีพีคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

 

รายงานของ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะสร้างความเสียหายในวงกว้างและมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิม โดยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัว ที่ระดับ 3% แต่ล่าสุดเดือนมิ.ย.ได้ปรับตัวเลขเป็นหดตัว 4.9% เนื่องจากธุรกิจทั่วโลกยังมีการปิดตัวอย่างกว้างขวาง (จากมาตรการล็อกดาวน์) และคาดว่าการฟื้นตัวในปีหน้า (2564) จะเป็นไปอย่างอ่อนแอ โดยรายงานฉบับเดือนเม.ย.ไอเอ็มเอฟเคยคาดว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะมีการขยายตัว 5.8% แต่ล่าสุดได้ปรับลดตัวเลขลงมาอยู่ที่ 5.4%

 

นอกจากนี้ หากในปีหน้าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ยังรุนแรง ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเติบโตได้เพียง 0.5% เพราะแม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มเปิดธุรกิจอีกครั้ง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุนและการบริโภค ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกจะมีการเติบโตได้นั้นจะต้องเกิดจากการเติบโตโดยรวมในวงกว้าง

IMFคาดโควิดฟาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 4.9% ไทยลบ 7.7%หนักสุดในอาเซียน

อ่านเพิ่มเติม IMF ผ่อนปรนหนี้ 25 ประเทศ บรรเทาผลกระทบโควิด-19

                    ไอเอ็มเอฟชี้เศรษฐกิจโลกถดถอยแล้วจากพิษโควิด-19

รายงาน WEO (World Economic Outlook) ของไอเอ็มเอฟยังคาดการณ์ว่า ในอนุภูมิภาค อาเซียน5 (ซึ่งหมายถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) เศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -2.0% ก่อนที่จะฟื้นตัวและมีการเติบโตที่ระดับ 6.2% ในปีหน้า (2564)  และหากพิจารณาแยกย่อยรายประเทศจะพบว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจไทยหดตัวมากที่สุดในปีนี้ ที่อัตรา -7.7% ตามมาด้วยมาเลเซีย (-3.8%) ฟิลิปปินส์ (-3.6%) อินโดนีเซีย (-0.3%) และเวียดนาม (+2.7%)

 

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในอัตราถึง 8% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 5.9% ก่อนที่จะมีการขยายตัว 4.5% ในปีหน้า ขณะที่ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือกลุ่มยูโรโซน คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในอัตรา 10.2% ซึ่งมากกว่าตัวเลขเมื่อเดือนเม.ย.ที่คาดไว้ 7.5% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 6.0% ในปีหน้า

 

สำหรับประเทศในละตินอเมริกา เศรษฐกิจของบราซิลคาดว่าจะหดตัว 9.1% และเม็กซิโก 10.5%

 

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ประเทศที่โดดเด่นคือจีน เนื่องจากเป็นหนึ่งในน้อยประเทศที่ยังสามารถมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นการเติบโตในอัตราน้อยมากและน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยรายงานฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟคาดว่า ประเทศจีนที่เริ่มเปิดธุรกิจอีกครั้งในเดือนเม.ย.และมีการติดเชื้อรายใหม่น้อยที่สุด น่าจะเติบโตในเชิงบวกที่อัตรา 1.0% ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ 1.2% เมื่อเดือนเม.ย. และหลังจากนี้ในปีหน้า (2564) คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราพุ่งขึ้นถึง 8.2%

พร้อมกันนี้ ยังเตือนว่า สถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่าง ๆจะทรุดตัวลงอย่างหนัก อันเป็นผลกระทบจากการทุ่มเทงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “วิกฤตการณ์ในปีนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ และว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการฟื้นตัวจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

 

ดังนั้น ไอเอ็มเอฟจังเสนอแนะว่า ธนาคารกลางและรัฐบาลต่าง ๆ ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการสนับสนุนการจ้างงานและภาคธุรกิจ เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


อ่านข้อมูลฉบับเต็ม World Economic Outlook Update, June 2020

                              ข้อมูลประเทศไทย