ปรับครม.เพื่อใคร

18 ก.ค. 2563 | 03:00 น.

ปรับครม.เพื่อใคร : คอลัมน์อยู่บนภู  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3593 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2563 โดย... กระบี่เดียวดาย

ปรับครม.เพื่อใคร...?
 

     ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เดินเข้าสู่โหมดการปรับครม.ประยุทธ์ 2/2 ภายหลังการเข้ารุกไล่ยึดครองพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคคนใหม่และกลุ่มก๊วนทางการเมือง
 

     ระยะเวลา 1 ปีภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปและมีการตั้งครม.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ก็จำต้องปรับครม.เพื่อเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
 

     การปรับครม.แต่ละครั้งไม่ง่าย เพราะคนอยากเป็นรัฐมนตรีจำนวนมาก แต่เก้าอี้รัฐมนตรีมีให้นั่งน้อย มีการแก่งแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกันมาก ภาพที่เกิดขึ้นจึงมีการรวมกลุ่มก๊วนไปกดดัน พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค เพื่อส่งแรงกดดันต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้หัวหน้าก๊วน หรือแกนนำในกลุ่มตัวเองได้ตำแหน่งที่ต้องการ ได้กระทรวงที่เกี่ยวพันขุมข่ายผลประโยชน์สูง ตามการเมืองในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นมาช้านาน ไม่ว่าจะนายกฯ ชื่อประยุทธ์ หรือชื่อใดๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระหว่างรอ ปรับครม. "สันติ พร้อมพัฒน์" ผงาดนั่งรักษาการ รมว.คลัง
ปรับครม. คำต่อคำ “นายกฯ” ไม่มีกั๊ก เปิดโผ รอ “ปรีดี ดาวฉาย” ตอบรับ
"บิ๊กป้อม' พูดชัด "ปรับครม." โควต้า 4 กุมาร เป็นของนายกฯ
พปชร.นัดถก 21 ก.ค.เคาะรายชื่อปรับ ครม.

     ที่บอกการปรับครม.ไม่ง่าย เพราะโดยปกติของนักการเมือง มักอาละวาดฟาดงวงฟาดงา หากไม่ได้ตำแหน่งแห่งหนที่ต้องการ หรือไม่พอใจก็อาจเกิดการตีรวนตามมา ไม่เฉพาะพรรคแกนนำอย่าง พปชร. เท่านั้น ในการปรับครม.แต่ละครั้ง พรรคร่วมรัฐบาลเองก็เช่นกันต่างคนต่างต้องการตำแหน่ง ต่างคนต่างคิดว่าคนเองมีความสามารถพอ บริหารได้ดี มีศักยภาพ เมื่อสมหวังก็สนับสนุนแข็งขัน เมื่อพลาดหวังก็โวยวาย หนักเข้าก็งอแง พาลจะหาเรื่องล้มรัฐบาล ก็จะส่งผลกกระทบเสถียรภาพรัฐบาล
 

     สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลทุกภาคส่วนต้องปรับตัวไปสู่ NEW NORMAL ซึ่งนายกฯ เองก็ต้องการพร้อมประกาศปรับตัว ปรับการบริหารประเทศไปสู่ NEW NORMAL รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
 

     แต่ระบบการเมือง นักการเมือง ยังจมอยู่ในอดีต และไม่คิดปรับตัวสู่ NEW NORMAL
 

     การปรับครม.จึงยังไม่ยึดโยงเป้าหมาย ปรับเพื่อทำงานให้ประชาชน แต่เป็นเพียงการปรับเพื่อสนองการเมือง
 

     พิจารณา พิเคราะห์ พิจารณ์ ตามหน้าเสื่อ หน้าไพ่ ของการปรับครม.เที่ยวนี้ ประชาชนยังไม่ได้อยู่ในสมการของประเทศ
 

     มีความพยายามจับจองและแย่งชิงเก้าอี้กันที่กระทรวงพลังงานอย่างน้อย 3-4 ขุมพลัง ที่ต้องการเข้าไปนั่งบังคับบัญชาสั่งการ ซึ่งกระทรวงนี้เกี่ยวพันผลประโยชน์มหาศาล และมีความสำคัญกับชีวิตประชาชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

     นอกจากกระทรวงพลังงานแล้ว ยังเลยเถิดลามปามไปที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งควบคุมกลไกปกครองภูมิภาค ท้องถิ่น สั่งการบังคับบัญชาผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ อันหมายถึงนักการเมืองต้องการควบคุมกลไกขุมข่ายนี้ เพื่อให้เอื้อ เมื่อการเลือกตั้งมาถึง
 

     มีความพยายามและผลักดันให้พี่ใหญ่เข้าไปนั่งตำแหน่งนี้ จากบรรดากลุ่มก๊วนในพรรคพปชร.
 

     แม้สถานการณ์ประเทศจะวิกฤติหนักหน่วง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ปากท้อง ธุรกิจรายกลาง-เล็ก เกษตรกร ที่สิ้นเนื้อประดาตัวและกำลังเข้าสู่ภาวะอดอยากหิวโหย
 

     แต่เรากลับเห็นผู้อาสา รุมทึ้งงบประมาณ ชิงเก้าอี้รัฐมนตรี
 

     จึงไม่แปลกที่ผลสำรวจความเห็นประชาชน ในการทุ่มให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะลดน้อยถอยลง รวมไปถึงรัฐบาลโดยรวม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดให้ถ้วนถี่
 

     เสียงในสภาฯ หรือมือที่ยกให้ พล.อ.ประยุทธ์ สำคัญก็จริง แต่เสียงประชาชนที่อยู่ภายนอกย่อมสำคัญยิ่งกว่า
 

     ป้อมปราการที่แข็งแกร่ง พลังที่ค้ำยันก็ย่อมสั่นคลอนได้ หากขาดไร้ซึ่งเสียงสนับสนุนจากประชาชน
 

     เมื่อถึงเวลานั้น หรือใกล้เวลานั้น บรรดานักการเมืองผู้ค้ำยันออกเสียง ยกมือ ในวันนี้...ก็กระโดดหนี
 

     สถานการณ์บีบให้นำไปสู่การปรับครม.ก็จริง
 

     แต่การปรับ ก็ให้เห็นหัวประชาชนบ้าง !!