กระทรวงพาณิชย์จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันวิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ชูยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เป้าหมายสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพ และนำพาไทยติด 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารของโลก โดยวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ได้ร่วมกันจัดเวที “อาหารไทย อาหารโลก” เพื่อนำเสนอนโยบาย และรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ROADMAP อาหารไทย อาหารโลก” ความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นไปเป็นอาหารของโลกได้หรือไม่ ตอบตรงนี้ได้เลยว่า “เป็นไปได้” เพราะวันนี้การส่งออกอาหารของไทยขึ้นไปอยู่อันดับที่ 11 ของโลกแล้ว การจะก้าวสู่อันดับ 10, 9, 8 จนถึงอันดับ 3, 2 หรือ 1 ทำไมจะเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้การจะบรรลุเป้าหมายภารกิจดังกล่าวได้ที่สำคัญคือ 1.การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทย 2.ทำตลาดเชิงรุก ทั้งรักษาตลาดเก่าและเพิ่มตลาดใหม่ 3.ปรับรูปแบบการตลาดต้องมีเซลล์แมนจังหวัด (พาณิชย์จังหวัด ภาคเอกชน) และเซลล์แมนประเทศ(ทีมไทยแลนด์ ทูตพาณิชย์) ร่วมบูรณาการในการรุกตลาดโลกทั้งออฟไลน์ และออนไลน์
“การส่งออกอาหารของไทยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมล่าสุดยังเป็นบวกถึง 15% เฉพาะผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้งบวกถึง 83.5% ไก่สดแช่แข็งบวก 13% และช่วง 5 เดือนแรกไก่สดแช่แข็งบวกถึง 27.9% นี่คือสัญญาณบอกว่าทำไมอาหารไทยจะผงาดขึ้นเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกไม่ได้ในอนาคต”
ชูเกษตรปลอดภัยนำทัพ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการบรรยายพิเศษ “เกษตรไทย มาตรฐานโลก” ตอนหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีที่ผ่านมา มาจากสินค้าภาคเกษตรเกือบ 20% จำนวนเกษตรกร ณ ปัจจุบันมีกว่า 30 ล้านคน หากสามารถทำให้ก้าวผ่านความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ความเข้มแข็งของประเทศและจีดีพีภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต”และผลักดันให้เกษตรกรก้าวสู่เกษตรทันสมัย ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
“หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯคือ เกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ในภาวะที่ตอนนี้ทั่วโลกประสบวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยทำให้วันนี้ทั้งภาคเกษตร และการแปรรูปสามารถรักษาระดับการส่งออกสินค้าและมูลค่าไว้ได้ จากปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าเกษตรต่อเนื่องอาหาร 1.25 ล้านล้านบาท และบริโภคในประเทศ 2 ล้านล้านบาท”
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด และตลาดนำการผลิต เป็นความต้องการของเกษตรกรโดยตรง และตรงใจมาก ที่อยากเห็นต่อไปคือให้มีความยั่งยืน และให้บรรจุเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้มีการสานต่อในทุกรัฐบาล
“กุ้ง-มัน-ข้าว” ร้อง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกล่าวว่า วันนี้เพิ่งเห็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้นจริง ที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯทำงานเป็นทีม ช่วงโควิด-19 ที่เกิดชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านอาหาร และทั่วโลกต้องการอาหารปลอดภัยจากไทยทำให้มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารของไทย 5 เดือนแรกยังเป็นบวก และเชื่อว่าในเดือนที่เหลือปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น
“อย่างไรก็ดีในส่วนของสินค้ากุ้งที่ผ่านมาประสบปัญหาสะสมทั้งเรื่องวัตถุดิบ ราคา ต้นทุน ค่าแรง บาทแข็งค่าทำให้ ณ ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมหายไป 100 กว่าบริษัท เพราะแข่งขันลำบาก อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลด้วย”
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับตลาดนำการผลิต และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตามในส่วนการส่งออกข้าวของไทยปีนี้คาดจะได้ไม่เกิน 6.5 ล้านตัน จาก 7.5 ล้านตันในปีที่แล้ว และปีนี้ไทยอาจหล่นไปอยู่อันดับ 3 ของโลก (รองจากอินเดีย และเวียดนาม) ผลจากราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งขัน และพันธุ์ข้าวไม่หลากหลายเหมือนคู่แข่ง ทำให้ตลาดข้าวไทยหดตัวต่อเนื่อง
“ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตจะสามารถนำมาปฏิบัติได้เราต้องมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงจึงจะสามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าจะผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นอันดับ 1 ของโลกใน 2 ปีคงไม่ใช่สิ่งที่น่าจะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น”
นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า สินค้ามันสำปะหลังทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เห็นด้วยกับตลาดนำการผลิต แต่เวลานี้ในส่วนของมันสำปะหลังที่อยากให้ภาครัฐเร่งให้ความช่วยเหลือคือการเกิดโรคใบด่างในหลายพื้นที่ ซึ่ง 2 ปีที่แล้วสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรแค่พันกว่าไร่ แต่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4 แสนกว่าไร่แล้ว หากไม่เร่งแก้ไขคาดปลายปีนี้จะเสียหายเป็นล้านไร่แน่ ส่งผลกระทบผู้ประกอบการขาดแคลนวัตถุดิบแปรรูปส่งออก ขณะที่ตลาดกำลังไปได้ดี
ซีพีเอฟยกนิ้วเชียร์
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า วันนี้ดีใจ และตื่นเต้นกับยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต รู้สึกมีความคาดหวังว่าจะดีขึ้นแน่ๆ ในอนาคต ถือเป็นการ “ทลายไซโล”การทำงานของกระทรวงเชื่อมโยงเข้าหากันเป็นมิติที่ยอดเยี่ยมมาก
“ข้อเสนอแนะของผมคือให้นำบิซิเนสโมเดลของญี่ปุ่นมาใช้กับภาคการเกษตรของไทย เพราะเขาผลักดันได้ดีมาก ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ และราคาสินค้าก็ดีด้วย นอกจากนี้แนะให้จ้างบริษัทเอเยนซีเก่งๆ มาช่วยสร้างแบรนด์ดิ้ง และกำหนดทิศทางชี้แนะว่าตลาดในประเทศต้องทำอย่างไร ส่งออกจะต้องทำอย่างไร งานของกระทรวงก็จะง่ายขึ้น เพราะใช้มืออาชีพมาช่วยเหมือนที่เราทำ”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3593 วันที่ 22-25 กรกฎาคม 2563