ออมสิน ขยายเวลาพักหนี้ถึงสิ้นปี ช่วยลูกค้ากระทบโควิดต่อ

23 ก.ค. 2563 | 05:51 น.

ออมสิน เตรียมขยายมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าได้รับผลกระทบโควิด-19 ต่อถึงสิ้นปี ส่งผลกำไรปีนี้ลดลงเหลือ 12,000-13,000 ล้านบาท พร้อมดันแผนปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการให้เสร็จใน 6 เดือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมขยายมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.นี้ จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนก.ย. นี้ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ทำให้รายได้ต่างๆ ของลูกค้ายังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงเห็นว่าควรขยายมาตรการดังกล่าวออกไป แต่จะให้เลือกออฟชั่นได้ว่าจะพักชำระหนี้ในลักษณะไหน ทั้งพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะชำระเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่พักชำระหนี้ทั้งหมด 3.10 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ปล่อยไปแล้ว 14,800 ราย คิดเป็นวงเงิน 136,800 ล้านบาท ขณะที่ความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน ก้อนใหม่วงเงิน 100,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มท่องเที่ยวนั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้กับกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว

ออมสิน ขยายเวลาพักหนี้ถึงสิ้นปี ช่วยลูกค้ากระทบโควิดต่อ

 

ทั้งนี้ยอมรับจากปัญหาโควิด-19 ที่ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าไป รีวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงนั้น จะทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 12,000-13,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิประมาณ 5,229 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 24,208 ล้านบาท และปี 2561 มีกำไร 30,842 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ นายวิทัย ยังกล่าวว่า เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ จะเน้นบรรเทาภาระลูกหนี้กลุ่ม Non-Bank ด้วยการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 8-10% จากปัจจุบันที่คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 24-28% เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับลูกหนี้ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้มีผลในปีหน้า ซึ่งปัจจุบันลูกหนี้กลุ่ม Non-Bank มีอยู่ 25.38 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 481,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด 48%  บัตรเครดิต 31% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 21%

ออมสิน ขยายเวลาพักหนี้ถึงสิ้นปี ช่วยลูกค้ากระทบโควิดต่อ

 

ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการนั้น เบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินอื่นในการชำระหนี้ และมาตรการแก้ไขหนี้สนับสนุนจากรัฐบาลและต้นสังกัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อบุคลากรภาครัฐ 577,900 ล้านบาท คิดเป็น 1.11 ล้านราย โดยประกอบด้วย บุคลากรทางการศึกษา 62% ข้าราชการทั่วไป 30% ตำรวจ 5% และทหาร 3%

 

“จากนี้ไปธนาคารจะปรับบทบาทให้เป็น social bank มากขึ้น โดยจะปรับกลยุทธ์ ช่วยคนฐานรากเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงแล้ว และจะเพิ่มฐานลูกค้าในแอพลิเคชั่น My Mo มากขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านราย ซี่งในอนาคตจะขยายบริการในแอพให้เพิ่มมากขึ้น”นายวิทัย กล่าว