หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยประสบกับอุปสรรครุนแรงจากทั้งภายนอกและภายใน ได้แก่ การเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาจนมีการปิดกั้นตลาดระหว่างกัน การเกิดภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในช่วง 40 ปี จนมาถึงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบกับไทยอย่างรุนแรง
“แต่เมื่อมีการหารือกัน เกิดมุมมองว่าเหตุการณ์ทั้งสามอย่างเป็นเพียงปลายเหตุของวิกฤตในครั้งนี้ เพราะโดยความจริงประเทศของเราสะสมปัญหาไว้นานแล้ว เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำ การศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาชาติ ที่ล้วนแต่กระทบความสามารถทางการแข่งขันของไทยมาอย่างต่อเนื่อง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ม็อบ-ว่างงาน” ศึกใหญ่ วิกฤติซ้อนวิกฤติ
มูลนิธิปิดทองหลังพระ ช่วยคนตกงานจากโควิด
ปิดทองหลังพระ...บูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ
ปิดทองฯ มุ่งเป้ายกระดับ เกษตรพรีเมียมสู้วิกฤติ
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ 8 องค์กรที่จะช่วยกันมองและหาทางในการนำประเทศผ่านวิกฤตในครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นผู้ประสานงานโครงการ
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” มีกรอบคิดหรือประเด็นการวิเคราะห์ที่สำคัญ เช่น
1. บริบทของสังคมโลก และประเทศไทยก่อนวิกฤติโควิด-19 และเมื่อโควิด-19 ได้ส่งผลอะไรต่อสังคมโลกและประเทศไทย
2. สังคมโลกต้อง “เปลี่ยน” และประเทศไทยต้อง “ปรับ” อะไร และทิศทางที่ควรจะเป็นเป็นเช่นไร
3. คนไทยมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด และหากจำเป็นต้องปรับ หรือเปลี่ยนต้องเตรียมการอย่างไร
4. หารูปแบบหรือโมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย
ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้หลาย ๆ อาชีพพบกับความเสี่ยงและความเปราะบางว่าในอนาคตอันใกล้หรืออาจจะไม่มีงานทำแล้ว ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ภาวะโลกร้อน หรือจากโควิด-19 ก็ตาม
“คนจำนวนมากอาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพ การศึกษานี้เราก็อยาก ดูว่าอุปสรรคต่าง ๆ มีอะไรบ้างเพื่อที่จะได้หาแนวทางในการลดข้อจำกัด ทำให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะทราบว่าอาชีพตัวเองมีความเสี่ยง ไม่ทราบว่าตัวเองมีทักษะอะไร โครงการนี้ส่วนหนึ่งก็คือเราพยายามจะพูดคุยในวงกว้างว่าอุปสรรคของเขาอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะมาหาทางรอดไปด้วยกัน”
คณะทำงานจัดแบ่งลำดับงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
1. การศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมของประเทศไทยก่อนและหลังการเกิดโควิด-19 เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนในด้านต่าง ๆ ซึ่งมี ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้กำกับดูแล
2. การศึกษาผลกระทบของประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ โดย ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู เป็นผู้กำกับดูแล
3. การรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งมี รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดจะออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน
“พวกเราทุกองค์กรทุ่มเทระดมความคิดกันมาหลายเดือนก่อนจะมาเริ่มทำโครงการ เพราะนี่คือโอกาสที่สำคัญที่สุดที่คนไทยทุกคนจะร่วมคิด พลิกฟื้นประเทศของเราได้ ข้อเสนอแนะของทุกคน ทุกภาคส่วนจะเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น”
คณะผู้ดำเนินโครงการขอเชิญชาวไทยทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อแนะนำมายังมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ (www.pidthong.org) สำนักข่าวไทยพับลิก้า ([email protected])