รศ. ดร.จรัสศรี นวลศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. หัวหน้าโครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนพื้นบ้าน จ.ยะลา การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า จ.ยะลา ได้ประกาศให้เป็นเมืองแห่งทุเรียน มีพื้นที่ปลูกกว่า 3 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์หมอนทอง แต่ก็มีทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่ดีปะปนอยู่ด้วย ทางโครงการกำลังคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี และขึ้นทะเบียนไว้ก่อนจะสูญพันธุ์ เท่าที่สำรวจมีมากกว่า 300 สายพันธุ์ แต่ที่ดีมีอยู่ 20-30 สายพันธุ์
ทุเรียนพื้นบ้านที่มีลักษณะดีอย่างพันธุ์ขมิ้น (ยายล่วน) ที่ ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา มีเนื้อเหลืองสวย รสชาติหวานอร่อย และได้นำกิ่งมาเพื่อเสียบยอดไว้แล้ว โดยทั่วไปทุเรียนพื้นบ้านเนื้อสีขาว เมล็ดใหญ่ เนื้อบาง หากนำทุเรียนพื้นบ้านมาพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีจะเป็นการเพิ่มมูลค่า อย่างทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียก็เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่ได้รับการพัฒนาเช่นกัน
สาเหตุที่ต้องอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านไว้ เนื่องจากมีจุดเด่นหลายอย่าง ที่สำคัญต้นแข็งแรง ต้านทานโรคได้ดี สามารถนำไปเป็นต้นตอเสียบยอดกับทุเรียนพันธุ์อื่นได้ดี และมีสารแอนติออกซิแดนต์และมีไขมันไม่อิ่มตัวสูงเมื่อเทียบกับหมอนทองและชะนี แต่ที่ผ่านมาทุเรียนพื้นบ้านขายไม่ได้ราคา ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยโค่นต้นทิ้ง เพื่อปลูกทุเรียนหมอนทอง ชะนี หรือก้านยาวฯลฯ อย่างไรก็ตามตอนนี้ตลาดมีความต้องการสูงเพื่อนำไปเสียบยอด ส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายเมล็ดได้ในราคากิโลกรัมละ 40-60 บาท
“ดิฉันอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า ทุเรียนพื้นถิ่นเป็นบรรพบุรุษของทุเรียน มีข้อดีแฝงอยู่ข้างใน โดยเฉพาะเรื่องโรครากเน่า โคนเน่ามาแรงมาก ถ้าโค่นพันธุ์พื้นถิ่นหมดจะใช้ต้นตอจากไหน เพราะต้นตอหมอนทองแย่ ชะนีอาจดีหน่อย แต่ดีที่สุดคือพันธุ์พื้นบ้าน” รศ. ดร.จรัสศรีกล่าวและว่าปัญหาสำคัญของสวนทุเรียนคือการระบาดหนอนเจาะเมล็ด ที่ยะลาทำให้ผลผลิตเสียหาย 50-60% จะมีการระบาดอย่างหนักในช่วงต้นฤดูฝน ต้องใช้วิธีจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ เช่น ใช้กับดักกาวเหนียว ใช้กับดักแสงสีม่วงล่อผีเสื้อกลางคืน และใช้การควบคุมโดยชีววิธี