ต้องอัดฉีด อีก 5 แสนล้าน ช่วยฟื้นเอสเอ็มอี

20 ก.ย. 2563 | 01:00 น.

ต้องอัดฉีด อีก 5 แสนล้าน ช่วยฟื้นเอสเอ็มอี : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3611 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-23 ก.ย.2563

           

ได้เห็นตัวเลขการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ได้รายงานภาวะในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 63) มีมูลค่า 15,290.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.2% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อการส่งออกของประเทศ 11.5% ขณะที่การส่งออกรวมของประเทศมีมูลค่า 133,162.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.7% สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างหนัก จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  

           

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียในปี 2563 จะติดลบ 0.7% เป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกในช่วง 60 ปี หรือจากปี 2503 เป็นต้นมา

           

สสว.ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ของเอสเอ็มอียังอยู่ในช่วงที่สาหัส เพราะยังจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศ และความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยต่างๆ  เช่น การแข็งค่าของเงินบาท และสถานการณ์ทางการเมืองที่จะมาสั่นคลอนรัฐบาล เป็นต้น ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอี ยังพบว่า ประสบปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งบางส่วนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หมุนเวียนในกิจการ

สิ่งที่สสว.คาดหวังว่า จะช่วยฉุดภาวะเอสเอ็มอีให้กลับมาฟื้นตัวได้บ้าง ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาล ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินออกสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม หรือต้องใส่เม็ดเงินเพิ่มเข้าไปอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อันจะเป็นการประคองเศรษฐกิจระดับฐานราก และสร้างอาชีพให้มากขึ้นได้ หากดำเนินการดังกล่าวได้ จะช่วยให้จีดีพีของเอสเอ็มอีในปี 2564 ขยายตัวได้ถึง 7.81%

           

นอกจากนี้ หากมีมาตรการกระตุ้นการบริโถค และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้มากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างมากของภาคบริการ ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งภาคผลิต การค้า และบริการได้รับอานิสงส์โดยตรง จะช่วยให้จีดีพีของเอสเอ็มอีในปีหน้า ขยายตัวได้ถึง 8.63 %

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งคลอดมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้ต่อเนื่อง รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน

 

อีกทั้ง การขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ออกไปอีก 3-6 เดือน หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2563 นี้ หากรัฐบาลเร่งดำเนินงานดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ได้บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมาทุบภาวะเศรษฐกิจให้ทรุดต่ำลงอีก