2568 โอกาส...ในวิกฤติ

01 ม.ค. 2568 | 03:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2568 | 03:25 น.

2568 โอกาส...ในวิกฤติ : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** สรุปภาพรวมของตลาดหุ้นไทย ในปี 2567 พบว่าจบวันสุดท้ายของปี ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ 1,400.21 จุด ลดลง 15.64 จุด หรือ คิดเป็น 1.10% จากวันสุดท้ายของปี 2566 ที่ปิดตลาดไปที่ 1,415.85 จุด 

แต่หากเอาจุดสูงสุดของปี 2566 ที่ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นไปแตะ 1595.53 จุด เทียบกับจุดสูงสุดของปี 2566 ที่อยู่ที่ 1506.82 จุด ก็จะพบว่ามีส่วนต่างกันอยู่ถึง 88.71 จุด 

ขณะที่ในปี 2566 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิไปถึง 192,083 ล้านบาท ส่วนในปี 2567 นักลงทุนต่างประเทศยังขายต่อเนื่องออกมาอีก 147,940 ล้านบาท

ในปีที่ผ่านมา ประเด็นที่สร้างความเสียหายและถูกพูดถึงมากที่สุดของตลาดหุ้นไทย น่าจะหนีไม่พ้นไปจากเรื่อง Short Selling และ Naked Short Selling ซึ่งผ่านเข้ามาทางฝรั่งหัวทองและหัวดำ ที่ทำให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่น ที่ต่อเนื่องมาจากการที่ราคาหุ้นถูกโจมตี ทั้งที่พื้นฐานธุรกิจยังคงเหมือนเดิม แต่ราคาหุ้นกลับร่วงลงแรง จนทำให้ทั้งนักลงทุนรายใหญ่รายย่อยเสียหายเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีประเด็นของหุ้นที่ถูกบังคับขาย (Force Sell) จากการเอาหุ้นไปวางค้ำบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งในกรณีนี้มีทั้งหุ้นใหญ่ หุ้นเล็ก หลายตัวรวมกัน แต่โดยภาพรวมแล้วประเด็นของการถูกบังคับขาย ได้ทำให้ราคาหุ้นหลายตัวร่วงลงต่อเนื่องกันหลายฟลอร์ จนสร้างความเสียหายให้ทั้งคนทำหุ้น (จ้าว) เจ้าของหุ้น รวมไปถึงนักลงทุนรายย่อยต่างก็เสียหายเช่นกัน

ขณะที่การระดมทุนในปี 2567 มีบริษัทไอพีโอทั้งสิ้น 32 บริษัท แบ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 14 บริษัท มูลค่าระดมทุน 15,015 ล้านบาท และมีมูลค่าหุ้น ณ ราคาไอพีโอ ที่ 94,790.82 ล้านบาท โดยพบว่า ทั้ง 14 บริษัท มีเพียง 5 บริษัท เท่านั้น ที่ราคาหุ้นยังสามารถยืนเหนือราคาจองได้จนถึงวันสุดท้ายของปี 

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ มีจำนวนทั้งสิ้น 18 บริษัท มูลค่าระดมทุน 4,435.27 ล้านบาท และมีมูลค่าหุ้น ณ ราคาไอพีโอ อยู่ที่ 18,015 ล้านบาท โดยพบว่าทั้ง 18 บริษัท มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่ราคาหุ้นยังสามารถยืนเหนือราคาจองได้จนถึงวันสุดท้ายของปี 

สรุปคือ บริษัทไอพีโอทั้งสิ้น 32 บริษัท มีเพียง 9 บริษัทที่สามารถยืนเหนือราคาจองได้จนถึงวันสุดท้ายของปี 2567 ส่วนที่เหลืออีก 23 บริษัทล้วนราคาหุ้นต่ำกว่าจอง 

ว่าแต่ในปี 2568 ตลาดหุ้นไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงใดที่น่าจับตาดู!!!

อย่างแรก ในปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ “อัสสเดช คงสิริ” จะทำหน้าที่กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 เต็มทั้งปี ในการเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะนำพาตลาดหุ้นไทยฝ่ามรสุมโลกที่กำลังปันป่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งสงครามการค้าและสงครามที่ใช้อาวุธจริง ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก บอกเลยว่าเจ๊เมาธ์คาดหวังว่า การทำงานเต็มที่เป็นปีแรกของ “อัสสเดช” จะไม่สร้างความผิดหวังแบบที่เคยได้รับมาจากคนก่อนหน้านี้

อย่างที่สอง เป็นเรื่องการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถชนะการเลือกตั้งเพื่อกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และด้วยนโยบายเศรษฐกิจของ "ทรัมป์" จะให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ มีท่าทีจะแทรกแซงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมุมองในการลดภาษี ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือคนรวย พร้อมกันนี้ การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะกลับมารุนแรง จะทำให้ทิศทาง Fund Flow ชะลอไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียและไทย 

อย่างไรก็ตาม การกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะมีข้อดีในประเด็นที่ทรัมป์ มุ่งความสนใจไปที่สงครามการค้ามากกว่าสงครามที่ใช้อาวุธจริง ในการแก้ไขความขัดแย้งมากกว่าในสมัยของ “โจ ไบเดน” ซึ่งนั่นก็จะทำให้ง่ายต่อการปรับตัวและตั้งรับได้มากกว่า

อย่างที่สาม เรื่องของการกลับเข้ามาสู่จังหวะของการใช้ชีวิตที่ปกติ เช่นเดียวกับช่วงยุคก่อนโควิด ในขณะที่ประเมินปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยทะลุ 40 ล้านคน เป็นครั้งแรก ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ที่สามารถต่อยอดรวมไปถึงจะสร้างกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้นได้ได้อีกมาก และแน่นอนว่า บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งก็จะได้รับอานิสงส์นี้เช่นกัน

อย่างที่สี่ เป็นเรื่องของการระดมทุนในปี 2568 ซึ่งขณะนี้พบว่า มีบริษัทเตรียมไอพีโอทั้งสิ้น 20 บริษัท แบ่งออกเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 6 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ อีก 14 บริษัท 

โดยในส่วนที่ยืนขอระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบริษัทได้รับการอนุมัติแล้ว 4 บริษัท และยื่นขอระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ได้รับการอนุมัติแล้ว 5 บริษัท 

ส่วนจะมีบริษัทที่ยื่นขออนุมัติการเข้าระดมทุนอีกกี่บริษัท หรือ บริษัทที่เข้าตลาดไปแล้ว จะสามารถยืนราคาหุ้นหน้ากระดานเหนือราคาจองได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องที่จะต้องมาตามดูกันในอนาคต

กล่าวโดยสรุปแล้ว เจ๊เมาธ์ยังมองว่า ตลาดหุ้นไทยยังพอจะมีโอกาสอยู่บ้าง แต่ก็บอกเลยว่าไม่ว่าจะเป็นปีนี้หรือปีไหนๆ การ “เล่นหุ้นด้วยหู” หรือการ “ฟังเขาว่ามา” จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว ตอนนี้ไม่ว่าใครต่างก็รู้ทันกัน

ดังนั้นพื้นฐานของหุ้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง และการสร้างและเข้าถึงโอกาสนั้น จะต้องเป็นไปในแบบที่มีข้อมูลรองรับ ถ้าทำได้... ปี 2568 นี้ก็จะผ่านไปในแบบที่ไม่มีปัญหาได้เช่นกันค่ะ