ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”

02 ม.ค. 2568 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2568 | 05:59 น.

ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ.บนยุทธการ “ตั๋งโต๊ะ” : คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน โดย...พรานบุญ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

  • มีเรื่องใหญ่ที่เป็นการเปิดศึกใหญ่กันระหว่าง “ฝ่ายการเมือง-ฝ่ายข้าราชการประจำ-บอร์ด” ในหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • เมื่อ “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” เจ้ากระทรวงพลังงาน แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของ กฟผ. มูลค่า 7,250 ล้านบาท หลังมีการร้องเรียนดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ 
  • ท่ามกลางกระแสมีมือดีอาศัยช่องโหว่ทางข้อขัดแย้งในการประมูลของเอกชน เปิดยุทธการ “ตั๋งโต๊ะ” แต่แอบกระทำการแบบนักการเมืองใน “สภาห้าร้อย” ที่คนไทยต่างระอา และหาทางต่อต้านการทุจริต

เปิดศักราชปี 2568 มีเรื่องใหญ่ที่เป็นการเปิดศึกใหญ่กัน ระหว่าง “ฝ่ายการเมือง-ฝ่ายข้าราชการประจำ-บอร์ด” ในหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เมื่อ “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามในคำสั่งที่ 72/2567 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของ กฟผ. วงเงิน 7,250 ล้านบาท หลังจากมีการร้องเรียนว่า มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ ฯลฯ

คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ มีนายตำรวจเต็มคณะ ประกอบด้วย 1.พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร นายตำรวจมือปราบชื่อดังอดีต ผบช.ปราบปรามยาเสพติด-อดีตรักษาการผบช.สันติบาล เจ้าของฉายา “มือปราบศยามล และ มือปราบขุนดง” เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 

2.พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - อดีต ผบช.กมค.-อดีต ผบช.สพฐ. เป็นกรรมการ

3.พ.ต.อ. ทิวา โสภาเจริญ รอง ผบก.ศฝร. บช.น.-อดีตนายเวร พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผบ.ตร., 4.พ.ต.อ. ชัยรัตน์ วรุณโณ รอง ผบก.สอท.2 มือปราบคริปโตฯ, 5.พ.ต.อ. ชลทฤษ ชัชวาลย์ รอง ผบก.ภ.จว.พะเยา

6.พ.ต.อ. เจริญ วิทิตกรกุล ผกก.กลุ่มงานสอบสวน ภ.5, 7.พ.ต.ท. ศิริพล จรรยา สว.กก.4 บก.สอท.2 อดีตตำรวจคอมมานโดฯ เป็นกรรมการ

                  ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”    ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”    ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”

ส่วนกรรมการและเลขานุการ ประกอบด้วย 1.พ.ต.อ.เศรษฐพงษ์ จิตต์โกมุท ผกก.กลุ่มงานวิชาการกองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี, 2.พ.ต.ท.พินิจ อุ่มบางตลาด รอง ผกก.ฝ่ายกฎหมายและวินัย บก.อก.บช.สอท., 3.นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์, นายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง ฯลฯ

หน้าที่หลักของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ มีหน้าที่ตรวจสอบ สอบสวน ความเป็นมาทุกขั้นตอน และสอบสวนว่า มีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้องในกระบวนการหาผู้รับจ้าง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของการว่าจ้าง การตรวจสอบคุณสมบัติ เงื่อนไข การเสนอราคา การอนุมัติการว่าจ้างเป็นไปตามระเบียบหรือไม่

นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบ การบรรจุ การกำหนดวาระการประชุมของคณะกรรมการ กฟผ. รวมทั้งการประชุมการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความระเอียดรอบคอบหรือไม่ มีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้องและต้องรับผิดในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนหรือไม่ ฯลฯ

                             ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”

หากพบว่ามีผู้กระทำผิด หรือมีข้อสงสัยอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะกระทำความผิดตามกฎหมายหรือประพฤติมิชอบ หรือไม่ละเอียดรัดกุมเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดและเกิดความเสียหายต่อ กฟผ.อย่างเพียงพอ รวมถึงเพื่อป้องการการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือเอื้อประโยชน์ให้ดำเนินการ ตรวจสอบบุคคล เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง และเสนอแนะแนวทางตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดำเนินการภายใน 45 วัน...

วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร มือปราบขุนดง ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์) เพื่อขอความร่วมมือมาให้ถ้อยคำ ข้อเท็จจริง หรือมอบหมายให้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ปากคำ ข้อเท็จจริงกรณีจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ในวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ ชั้น 5 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ผลที่ตามมาจากปฏิบัติการสอบสวนข้อเท็จจริงในการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหิน 7,250 ล้านบาท ของ “รัฐมนตรี-นายตำรวจ” ทำเอา “พนักงาน กฟผ.-ผู้บริหาร กฟผ.-คณะกรรมการ กฟผ.-ข้าราชการกระทรวงพลังงาน” ตื่นตกใจตาแตกไปตั้งแต่ปลายปีเก่ายันต้นปีใหม่ 

นี่อาจเป็นกรณีแรกที่มีการใช้ “ตำรวจยกคณะ” เข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงและสาวเส้นทางการเงินของตัวบุคคล ผู้บริหาร คณะกรรมการ ชนิดที่ใครพัวพัน มีเส้นเงิน หรือ แค่ส่อแวว อาจโดนหนักไปถึงมือ ป.ป.ช. และโทษอาญา

เพราะในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งนั้น เพียงแค่ “มีข้อสงสัยอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะกระทำความผิดตามกฎหมายหรือประพฤติมิชอบ หรือไม่ละเอียดรัดกุมเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด และเกิดความเสียหายต่อ กฟผ.อย่างเพียงพอ” ก็อาจสังเวยชีวิตได้

                       ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”    ศึกใหญ่“พลังงาน”สอบสวนเอาผิด กฟผ. บนยุทธการ“ตั๋งโต๊ะ”

ความจริง โครงการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของ กฟผ. วงเงิน 7,250 ล้านบาทนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2566 ต่อมามีการประมูลจริง เมื่อปี 2567

ต่อมา บริษัท สหกลอิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลงานไปในมูลค่า 7,170 ล้านบาท 

ในชั้นต่อมา พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ กรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้คัดค้านการพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ.เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 

ต่อมามีข้อร้องเรียนและอุทธรณ์ของเอกชน ซึ่งไม่ใช่ใครก็คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ยื่นอุทธรณ์และร้องขอความเป็นธรรมในการจ้างงาน 

ทาง กฟผ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ขึ้นมา เพื่อพิจารณาสอบข้อเท็จจริง กำหนดให้แล้วเสร็จในภาย 30 วัน เพื่อนำเสนอเข้าพิจารณาในบอร์ด กฟผ. เข้าใจว่า ถ้าไม่เป็นวันที่ 8 มกราคม 2568 ก็จะเป็นวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ต้องสรุปความเห็น

ก่อนหน้านั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งด่วนที่สุด ถึง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 7,250 ล้านบาทไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

แต่ กฟผ.ได้ออกมาชี้แจงว่า การดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีข้อเสนอไม่ตรง TOR ได้เสนอราคาใหม่

ทั้งนี้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ถูกตัดสิทธิ์จากการประมูลเนื่องจากข้อบกพร่อง 3 ประการ

1.เครื่องโม่ดินมีรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักไม่ครบตามจำนวนที่เสนอ

2.สายพานลำเลียงดินและเครื่องโปรยดินไม่มีแผนการปรับปรุงสภาพก่อนการทำงาน 

3.แบบดำเนินการที่เสนอมาขุดนอกขอบเขตพื้นที่การทำงานที่กำหนด

"ข้อบกพร่องทั้งหมด ไม่ตรงตามเงื่อนไขใน TOR ที่กำหนด"

ดังนั้น การยกเลิกประมูลครั้งนี้ มีความเสี่ยงต่อการอุทธรณ์และร้องเรียนจากผู้ที่เสนอราคาที่มีข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไข และอาจทำให้ค่าไฟแพงขึ้น 8 สตางค์ต่อยูนิต

อีกทั้งก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้มีหนังสือสอบถาม อิตาเลี่ยนไทยไปในเดือนกันยายน 2566 แต่ทางอิตาเลียนไทยฯ แจ้งว่า ไม่พร้อมประมูล เพราะมีงานเต็มมือ แต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 กลับมีหนังสือแจ้งไปยัง กฟผ. ว่าพร้อมประมูล และเมื่อมีการประมูลงานจ้างขุด-ขนถ่านหิน ก็ถูกตัดสิทธิ์ไป 

และนำมาซึ่งการที่ทางรัฐมนตรีที่กำกับนโยบายพลังงาน เดินหน้าตั้งคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ขึ้นมา จึงทำให้เกิดมรสุมใหญ่ที่ใครๆ ก็คิดไม่ถึงใน “กฟผ.-คณะกรรมการ กฟผ.-กระทรวงพลังงาน” 

ท่ามกลางกระแสสู้กันทางการเมือง

ท่ามกลางกระแสว่า ให้เอาผิดถ้วนทั่วทุกตัวคน หากไม่ยอมสยบ

ท่ามกลางกระแส มีมือดีอาศัยช่องโหว่ทางข้อขัดแย้งในการประมูลของเอกชน เปิดยุทธการ “ตั๋งโต๊ะ” ในตำราพิชัยสงครามสามก๊ก ผิดแผกแต่แอบกระทำการแบบนักการเมืองใน “สภาห้าร้อย” ที่คนไทยต่างระอา และหาทางต่อต้านการทุจริต

งานนี้ ไม่ใครก็ใคร พังไปข้างหนึ่ง เพราะรับรองได้ว่า เมื่อมือปราบขุนดง ลงมือปฏิบัติการ สถิติบอกว่า “มักราบเป็นหน้ากลอง”