โควิด-19 ม็อบการเมือง ถล่มเศรษฐกิจไทย

20 ก.ย. 2563 | 02:00 น.

โควิด-19 ม็อบการเมือง ถล่มเศรษฐกิจไทย : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3611 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 20-23 ก.ย.2563 โดย... ว.เชิงดอย

 

โควิด-19

ม็อบการเมือง

ถล่มเศรษฐกิจไทย

 

+++ ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองภายใต้การนำของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่มีข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อ “รัฐบาลลุงตู่” ทั้งเรื่อง การยุติคุกคามประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ให้ยุบสภา แถมยังไม่มีทีท่าว่า “ม็อบนักศึกษา” จะจบลงอย่างไร และเมื่อไหร่ ขณะที่ประเทศชาติก็กำลังประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจจาก “พิษโควิด-19” ที่ทำให้แทบทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจเจ๊งระเนระนาด คนตกงานไม่รู้กี่ล้านต่อกี่ล้านคน ระทมทุกข์กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง

 

+++ เมื่อเย็นวันที่ 17 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ พูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเตือนกลุ่มผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงจะเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทย ขณะเดียวกันกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำลายการทำมาหากินของคนไทยด้วยกันอีกสิบๆ ล้านคน

+++ “การจุดชนวนการแพร่ระบาดโควิดให้เสี่ยงที่จะลุกโชนขึ้นมาอีก นั่นจะส่งผลกระทบที่เลวร้าย และทวีคูณปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ไปสู่ระดับที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน ผมขอให้ทุกท่านคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก" นายกรัฐมนตรี ระบุ ทั้งบอกกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องต่างๆ ว่า ได้ยินสิ่งที่พูด และรับทราบความคับข้องใจเรื่องการเมือง และความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ โดยเคารพ ความคิดเห็น และความรู้สึกของทุกคน แต่วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดเร่งด่วนที่จำเป็นต้องจัดการก่อน นั่นคือการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่โควิดได้ก่อให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก จึงไม่ควรทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้ การชุมนุมจะทำให้การฟื้นเศรษฐกิจเกิดการล่าช้า เพราะจะทำลายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ และสร้างความลังเลใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทย เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง การชุมนุมจะสร้างความวุ่นวายในประเทศ และทำลายสมาธิการทำงานของภาครัฐในการจัดการกับโควิด

 

+++ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า “ผมรู้สึกจริงๆ ครับว่าทุกคนเจ็บปวด หลายครั้งผมนอนไม่หลับ เมื่อคิดถึงจำนวนคนที่ต้องตกงาน และจำนวนธุรกิจที่ต้องปิดกิจการลง เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก ซึ่งไม่มีทางออกไหนที่ไม่มีความเจ็บปวดรออยู่ การเปิดประตูประเทศ อาจจะทำให้มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในระดับนึง แต่เราก็รู้ว่า จะมีโควิดเข้าประเทศมาด้วยแน่นอน แม้จะมีการตรวจเช็คขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่ผมกังวลคือ หากเกิดการระบาดใหญ่เป็นวงกว้างในประเทศ เราอาจจะไม่สามารถรับมือได้ และถ้ามันเกิดขึ้นแบบนั้น ความเดือดร้อนในเรื่องของเศรษฐกิจปากท้องจะยิ่งรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะส่งผลกับทุกภาคส่วนในสังคม เรากำลังเดินเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะยิ่งยากลำบากมากขึ้น เราจึงควรวางเรื่องการเมืองเอาไว้ก่อน แล้วจับมือร่วมแรงร่วมใจกัน ผ่านพ้นความยากลำบากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประวัติศาสตร์โลกไปให้ได้ ผมขอให้ทุกคนยกการ์ดของตัวเองให้สูงอีกครั้ง” ...นั่นคือคำของร้องของ “นายกฯลุงตู่”

+++ หันไปดูเรื่องร้อนๆ ทางการเมืองอีกเรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอญัตติ ในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ โดยขณะที่มีร่างแก้ไข รธน. 6 ญัตติที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ที่ขอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร .มีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยหัวใจสำคัญคือ ปิดทางไม่ให้ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และขอรื้อระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ เลือกทั้งส.ส.เขต และเลือกพรรค(ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ญัตติถัดไปเป็นของ พรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร. มีที่มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพต่างๆ  50 คน ใช้เวลายกร่างรธน.ภายใน 240 วัน  และอีก 4 ญัตติเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6พรรค ที่ขอ 1.แก้มาตรา 272 และ 159 ไม่ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ 2.แก้มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 3.แก้มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศของ คสช. และ 4.แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้บัตร 2 ใบ  ...หลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรธน. ทั้งของพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แถมยังต้องพึ่งพาอาศัยเสียงของ “ส.ว.” ในการร่วมแก้ไขรธน. ...ท้ายที่สุดแล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของใครจะได้ “ไปต่อ” หรือถูก “ตีตก” บ้าง เดี๋ยวได้รู้กัน... 

 

+++ ไปดูกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมกันบ้าง ...มูลนิธิกรุงศรี จัดโครงการ “กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา 2563 เต็มใจใช้ความรู้ แบ่งปันสู่สังคม” เชิญชวนน้องๆ นิสิต/นักศึกษา ร่วมส่งโครงการเข้าประกวดภายใต้หัวข้อ “รวมพลังจิตอาสาเปลี่ยนแปลงสังคม และพัฒนาวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) อย่างยั่งยืน” โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 8 โครงการ จะได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิกรุงศรีในการดำเนินโครงการ โดยแบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 3 รางวัล รางวัลชมเชย 5 รางวัล รวมเงินสนับสนุนโครงการทั้งสิ้น 60,000 บาท นิสิต/นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมส่งโครงการสามารถติดต่อขอรับรายละเอียดได้ที่มูลนิธิกรุงศรี โทร. 0-2296-2000 ต่อ 50713, 82445 หรือส่ง E-mail : [email protected]

 

+++ ปิดท้ายกันที่ปฏิทินข่าว... 22 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. วีระพงศ์ มาลัย ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะเป็นประธานแถลงความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ณ ห้องประชุม ชั้น 18 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาคารทีเอสที ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่าตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงได้น้อย เอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลมีกว่า 7 แสนราย มีผู้ประกอบการที่สามารถเข้าสู่ระบบ โดยร่วมยื่นข้อเสนอโครงการได้เพียง 61,956 ราย หรือเพียง 8.84% โครงการดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือ สนับสนุน และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน...